“ดีใจมาก ๆ ที่ได้ไปโลดแล่นฝึกงานระดับอินเตอร์กว่า 3 เดือน ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย… มันมีค่า มีความหมาย และสร้างคอนเนกชั่นที่ดี” เสียงที่แฝงด้วยรอยยิ้มและตื่นเต้นทุกครั้งที่เล่าของ “Mengleng Ven” ชื่อเล่นว่า “ไม้” หนุ่มวัย 21 ปี จากประเทศกัมพูชา นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี)
“ไม้” เล่าว่า หลังจบจาก Preah Sihanouk High School ที่กำปงจาม ประเทศกัมพูชา ก็ได้รับทุนการศึกษาพระราชทานตามโครงการพระราชทานความช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนระดับปริญญาตรีจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยความสนใจจึงเลือกศึกษาต่อที่ มทร.ธัญบุรี ในสาขาวิชาออกแบบภายใน คณะศิลปกรรมศาสตร์ เพราะเห็นว่าด้วยบริบทต่าง ๆ ในปัจจุบันและอนาคต อาชีพนักออกแบบภายใน หรือมัณฑนากร กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในกัมพูชา อีกทั้งความชอบส่วนตัวโดยเฉพาะด้านศิลป์
ช่วงแรกที่เข้ามาเรียนในประเทศไทย ใช้เวลาไม่นานมากในการปรับตัว อาจเป็นเพราะประเทศเราใกล้กัน และมีหลายอย่างที่คล้ายกัน จากประสบการณ์พบว่าสังคมไทยโดยส่วนใหญ่เป็นสังคมที่เกื้อกูล ช่วยเหลือกันดี และภาษาไทยง่ายต่อการเรียนรู้ ฝึกฝนไม่ยาก และที่ มทร.ธัญบุรี มีกิจกรรมสำหรับนักศึกษาให้ทำเยอะมาก ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 และก่อนหน้านี้ทุกคนประสบปัญหาในสถานการณ์โควิด19 ทำให้ตนเองมีเวลาว่างในระยะหนึ่ง ทราบข่าวจากทางมหาวิทยาลัยว่ามีโครงการ From Gen Z to be CEO (โครงการกระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่) จึงสมัครเข้าร่วม สอบผ่านและได้รับสิทธิ์จากโครงการ ให้ร่วมฝึกงานกับ สคต. กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย
ความสนุกที่เกิดขึ้นทั้งหมด ไม่ได้อยู่เพียงแค่ภาษาและการสื่อสาร เพราะกัมพูชาเป็นประเทศเปิด ที่ให้ความสำคัญและมีการใช้ภาษาอังกฤษสม่ำเสมอ รวมทั้งตนก็มั่นใจและฉะฉานพอที่จะเผชิญกับสถานการณ์ต่าง ๆ แต่ความสนุกอยู่ที่ความต่างของวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ โดยตนนั้นได้ฝึกงานทั้งในส่วนของ Back Office และ Front Office โดยเฉพาะการสื่อสารและการประสานงาน ในระดับบุคคล องค์กร เรื่อยไปจนถึงระดับประเทศ งานหรือกิจกรรม Event ในโอกาสสำคัญ ซึ่งพี่ ๆ สคต. กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ได้สอนงานเป็นอย่างดี บรรยากาศการฝึกงานจึงไม่น่าเบื่อ แต่กลับสร้างความท้าทายใหม่ ๆ ในชีวิต เช่น การติดตามและประสานงานระหว่างผู้ประกอบการไทย 25 แบรนด์ดังและแพลตฟอร์มออนไลน์ Meisterstrasse ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มคัดสรรผู้ผลิตงานฝีมือและผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นที่มีความโดดเด่น งาน Private Viewing ของ Thai Artisan: KORAKOT & Thai Designers การร่วมจัดกิจกรรม Thai SELECT ซึ่งเป็นกิจกรรมเผยแพร่อาหารไทยและส่งเสริมร้านอาหารไทยในกรุงเวียนนา งาน MQ Vienna Fashion Week ครั้งที่ 13 ร่วมโครงการเผยแพร่ร้านอาหาร Thai SELECT อาหารไทย และข้าวหอมมะลิไทยในประเทศสโลวีเนีย ร่วมและจัดทำรายงานของงาน Vienna Design District 1010 ขณะเดียวกันยังได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่พิเศษ เป็นผู้ประสานงานหลักระหว่าง สคต. กรุงเวียนนา กับนักออกแบบชื่อดังและเป็นเจ้าของแบรนด์ KORAKOT รวมถึงได้ดูงานเยี่ยมชมโรงเรียนสอนการออกแบบ Hetzendorf modeschule กรุงเวียนนา อีกด้วย
สิ่งที่ได้กลับมาตลอดระยะเวลาของการฝึกงาน ล้วนเป็นประสบการณ์และเป็นอีกหนึ่งบทเรียนในเชิงปฏิบัติที่น่าจดจำ “ผมได้ทักษะการสื่อสาร วิธีและเทคนิคการโน้มน้าวใจ การแก้ไขปัญหาหน้างานที่ทำโดยทันที ได้สัมผัสกับกระบวนการทำงานระดับอินเตอร์ ที่สำคัญได้เรียนรู้จากบุคคลต่าง ๆ ที่ตนเองได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะแนวคิด และวิธีการจากเหล่าผู้ประกอบการธุรกิจไทยและออสเตรีย”
ประโยคที่ว่า “หนึ่งคน หนึ่งอาชีพ” อาจไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบัน แม้ว่าเป้าหมายในชีวิตของตนเองจะชัดเจนในด้านการออกแบบภายใน แต่ก็พยายามมองหาประสบการณ์และอาชีพใหม่ ๆ เพื่อเสริมความอยู่รอดแก่ตนเองและครอบครัว การได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการฯ สอบผ่านจนได้รับคัดเลือกและสิทธิประโยชน์ดังกล่าวนั้น จึงเปิดมุมมองใหม่สำหรับลู่ทางการทำงานในระดับอินเตอร์ ที่สำคัญคือได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวออสเตรีย ได้เห็นสิ่งที่พัฒนาต่าง ๆ โดยเฉพาะการออกแบบและพัฒนาระบบขนส่งที่น่าสนใจ เชื่อมโยงระหว่างกันได้ดีมาก “การเปิดโลกทัศน์ที่ผมได้รับการสนับสนุนจากทั้งโครงการฯ ดังกล่าว และจากทาง มทร.ธัญบุรี ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นประสบการณ์ใหม่ในชีวิต ที่ถือว่าช่วยหล่อหลอมให้ผมมีทักษะทางสังคมที่ดียิ่งขึ้น”
ไม้ ยังได้เน้นย้ำว่า อยากให้มีโครงการ From Gen Z to be CEO อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมศักยภาพให้มีพลังด้านการทำธุรกิจ เมื่อจบหลักสูตรและสอบผ่านเกณฑ์มาตรฐานของโครงการจะได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมฝึกงานกับบริษัทพันธมิตร บริษัทชั้นนำ รวมถึง สคต. ที่ตั้งอยู่ในทั่วทุกภูมิภาคของโลก เช่นเดียวกับที่ตนได้รับในครั้งนี้ รวมทั้งการสนับสนุนที่ดีจากมหาวิทยาลัย “ขอบคุณทุกท่านที่ได้เติมเต็ม 3 สิ่งนี้แก่ผม นั่นคือโอกาส บทเรียน และประสบการณ์” สิ่งเหล่านี้ผมว่า เป็นคุณค่าทางการศึกษาอย่างหนึ่ง ที่จะต่อยอดและนำไปพัฒนาประเทศได้.
เรื่อง/อลงกรณ์ รัตตะเวทิน.
กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี.