มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (Rajamangala University of Technology Thanyaburi)


กำเนิดราชมงคลธัญบุรี ( Rajamangala University of Technology Thanyaburi)

ในสังคมไทย แต่เดิมมีค่านิยมของการศึกษาต่างกันกล่าวคือ ไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาเพื่อสร้างอาชีพโดยตรง เช่น อาชีวศึกษา เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้ที่เรียนสายอาชีวศึกษามีความรู้สึกต่ำต้อยในสังคม และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบการศึกษาที่จัดอยู่ในขณะนั้น เพราะถูกจำกัดการศึกษาเพียงระดับอนุปริญญาเท่านั้น ก็ทำให้เกิดความไม่พอใจต่อสภาพการณ์ดังกล่าว ดังนั้นนักศึกษาอาชีวศึกษาหลายแห่งจึงรวมตัวกันเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการจัดการศึกษาให้ถึงระดับปริญญา เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๑๗ จากนั้นจึงเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาในเวลาต่อมา

ก้าวแรกของวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา

         เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา จึงได้ถือกำเนิดขึ้น ตามร่างพระราชบัญญัติ "วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาพุทธศักราช ๒๕๑๘” ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้เป็นต้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตครูอาชีวศึกษาระดับปริญญาตรีให้การศึกษาทางด้านอาชีพทั้งระดับต่ำกว่าปริญญาตรีระดับปริญญาตรีและประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ทำการวิจัยส่งเสริมการศึกษาทางด้านวิชาชีพ เทคโนโลยีและให้บริการทางวิชาการแก่สังคม

         สภามหาวิทยาลัยได้มีมติให้แต่งตั้งนายสวาสดิ์ ไชยคุณา ซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมอาชีวศึกษาในขณะนั้นเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิการบดี เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๑๙ และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายสวาสดิ์ไชย คุณาดำรงตำแหน่งอธิการบดีอีกวาระหนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๓ แม้ว่าวิทยาลัยจะได้เปิดการเรียนการสอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ แต่ความจริงในระยะเริ่มแรกของวิทยาลัยยังไม่มีสถานที่ศึกษาของวิทยาลัยเองเนื่องจากปัญหาอุปสรรคด้านนโยบายและแนวทางปฏิบัตินานาประการจึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดตั้งศูนย์กลางการศึกษาระดับปริญญาแห่งนี้เพื่อเปิดสอนให้มารวมอยู่ในสถานที่แห่งเดียวกันได้มาตั้งแต่ต้นจนถึง พ.ศ. ๒๕๒๗

         จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ซึ่งเป็นสมัยที่ศาสตราจารย์ อนันต์ กรุแก้ว เป็นอธิการบดีคนที่ ๒ ทางวิทยาลัยฯ ได้รับการอนุเคราะห์จากกรมธนารักษ์ จัดสรรที่ดินที่คลองหก ฝั่งตะวันตก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ ๖๑๐-๓-๔๑ ไร่ และตำบลคลอง รังสิตฝั่งเหนือ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ ๑๐๙-๓-๐๔ ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งหมด ๗๒๐-๒-๕๕ ไร่ให้ใช้เพื่อจัดตั้งศูนย์กลางการศึกษาระดับปริญญาของวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาต่อไป จากนั้นมาทางวิทยาลัยฯ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการเข้าไปเจรจากับชาวบ้านและผู้ที่ทำนาขอใช้ที่ดินเพื่อจัดสร้างศูนย์กลางการศึกษาระดับปริญญาในขั้นแรกปรากฏว่าตกลงกันไม่ได้ การศึกษาในระบบฝากเรียนของวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาที่ต้องกระจัดกระจายการเรียนการสอนในสมัยนั้น นับเป็นปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานการเรียนการสอนและการบริหารงานเป็นอย่างมาก แม้แต่สำนักงานอธิการบดี ซึ่งเป็นองค์กรประสานการบริหารงานและกิจกรรมระหว่างคณะต่าง ๆ ก็ตาม

        ก็มีเพียงสำนักงานเพียงหลังเดียวอยู่ในวิทยาเขตเทเวศร์ อีกทั้งยังไม่สามารถขยายสถานที่ทำงานออกไปได้ เพราะพื้นที่อันจำกัดของวิทยาเขตนั่นเอง ในความเป็นจริงแล้ว วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการจัดการศึกษาระดับปริญญาให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถประหยัดทั้งเวลาและทรัพยากรทุกประเภท

         ดังนั้นวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาจึงมีแนวคิดและความพยายามที่จะหาทางจัดให้คณะต่างๆ ที่เปิดสอนระดับปริญญาได้มารวมกันอยู่ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งให้ได้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและสามารถขยายงานการเรียนการสอนระดับปริญญาด้านเทคโนโลยีออกไปให้ก้าวไกลขึ้นตลอดมา

         จนได้มีการเจรจาหลายครั้งกับชาวบ้านที่ไม่มีเอกสิทธิ์ใดๆ แต่ได้อาศัยพื้นที่กันมานานแล้วจึงเป็นปัญหาที่ต้องทำความเข้าใจถึงการพัฒนาพื้นที่ เพื่อสร้างเป็นศูนย์กลางการศึกษาระดับปริญญาด้วยความยากลำบาก จนในที่สุดได้สร้างความเข้าใจแก่ผู้ที่อาศัยในพื้นที่พอสมควร พร้อมกันนั้นก็ได้ส่งอาจารย์ไปเยี่ยมเยียนและเจรจากับผู้ที่อยู่ในพื้นที่นับตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้านจนถึงลูกบ้านทุกคน จนได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่บริเวณนั้นจนสำเร็จ บางรายยอมรื้อถอนบ้านออกจากพื้นที่และยินยอมให้วิทยาลัยฯ ได้เข้าไป ชุดคูทำเขื่อนคันดิน และปรับปรุงพื้นที่ ตลอดจนทำถนนในบริเวณที่ทำนาอยู่ทุกรายวิทยาลัยฯ ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านคลองหกเป็นอย่างดี และได้มีผู้ที่สมัครเข้าทำงานกับวิทยาลัยฯ หลายคน จนวิทยาลัยฯ สามารถเข้าไปดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ศูนย์กลางการศึกษาระดับปริญญาได้อย่างเต็มตัวตั้งแต่นั้นมา

         การเจรจาต้องใช้เวลาถึงปีเศษจึงเข้าดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ได้และดำเนินการก่อสร้างได้เริ่มขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นต้นมา เมื่อการก่อสร้างดำเนินการมาจนถึงปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๐ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ได้ขอพระราชทานเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ศูนย์กลางการศึกษาระดับปริญญา ซึ่งสำนักราชเลขาธิการได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาททรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ วางศิลาฤกษ์ ศูนย์กลางการศึกษา ระดับปริญญาวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาในวันอังคารที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๑ เวลา ๑๖.๐๙ น. ยังความปลื้มปิติยินดีมาสู่คณาจารย์ ข้าราชการนักศึกษา และเจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยฯ เป็นล้นพ้น

พระราชทานนามสภาบันเทคโนโลยีราชมงคล

         ผลการดำเนินการก่อสร้างศูนย์กลางการศึกษาระดับปริญญาตรีในพื้นที่ ๗๒๐ ไร่ ๒ งาน ๔๕ ตารางวา ในที่ดินราชพัสดุดำเนินการสำเร็จลุล่วงมาด้วยดี สิ่งก่อสร้างทั้งอาคารเรียนและสาธารณูปโภคต่างๆได้ก่อสร้างสำเร็จไปแล้วส่วนหนึ่ง และคาดว่าจะใช้ประโยชน์ได้สมบูรณ์ในปีการศึกษา ๒๕๓๔ เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบและด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ที่ทรงพระเมตตาต่อวิทยาลัยฯ โดยเสด็จมาพระราชทานปริญญาแก่บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยด้วยพระองค์เองทุกครั้ง

         เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๑ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อนักเรียนอาชีวศึกษา เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อสถาบันว่า“ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล” แปลว่า“ สถาบันเทคโนโลยีอันเป็นมงคลแห่งพระราชา” หมายความว่าชาวราชมงคลทุกคนตั้งแต่คณาจารย์ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่และนักศึกษาทรงถือว่าเป็นมงคลแห่งพระองค์ท่าน

         นับแต่นั้นมาสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลจึงเป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งผลิต“ บัณฑิตนักปฏิบัติ "รับใช้สังคมเป็นที่ยอมรับถึงศักยภาพของบัณฑิตตลอดมา ดังนั้นวันที่ ๑๕ กันยายนของทุกปีจึงกำหนดให้เป็น“ วันราชมงคล" ที่ชาวราชมงคลทุกคน เพื่อที่จะได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานนามสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล จนเป็นที่รู้จักกันทุกวันนี้

จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล สู่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

        นับเป็นโอกาสดีของสถาบันเทคโนโยลีราชมงคล ที่ประเทศไทยได้ประกาศใช้กฎหมายการศึกษาฉบับแรก คือพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ส่งผลให้มีการรวมการจัดการศึกษาทุกระดับไว้ในกระทรวงเดียวกันคือกระทรวงศึกษาธิการ (ใหม่) และให้สถาบันอุดมศึกษาที่สอนระดับปริญญามาอยู่ในสังกัดเดียวกัน คือสํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา รวมทั้งการกระจายอำนาจสถานศึกษา ให้มีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระคล่องตัวในรูปแบบของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษาในกํากับของรัฐ ดังนั้นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล จึงได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. ๒๕๑๘ เพื่อให้มีโครงสร้างการบริหารและการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับแนวทางพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติและเปลี่ยนจาก "สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล" เป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล "ต่อไป

๙ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

         ดังนั้นเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔ จึงได้เกิดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลขึ้นอีก ๙ แห่งตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาโดยมี

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี  (Rajamangala University of Technology Thanyaburi)
www.rmutt.ac.th
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ  (Rajamangala University of Technology Krungthep)
www.rmutk.ac.th
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก  (Rajamangala University of Technology Tawan-ok)
www.rmutto.ac.th
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร  (Rajamangala University of Technology Phra Nakhon)
www.rmutp.ac.th
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์  (Rajamangala University of Technology Rattanakosin)
www.rmutr.ac.th
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา  (Rajamangala University of Technology Lanna)
www.rmutl.ac.th
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (Rajamangala University of Technology Srivijaya)
www.rmutsv.ac.th
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (Rajamangala University of Technology Suvarnabhumi)
www.rmutsb.ac.th
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (Rajamangala University of Technology Isan) www.rmuti.ac.th

        มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเต็มตัว ทิศทางการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้ จึงเน้นการบริหารจัดการให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งรวมของวิชาการหลายสาขา มีคณะหลากหลายให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนตามความสนใจ เป็นมหาวิทยาลัยแนว Comprehensive ที่ครอบคลุมทุกความต้องการของผู้เรียนหลงลืมความชัดเจนในการเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเฉพาะทาง ที่มีรากเหง้ามาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษามุ่งสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติคุณภาพ ซึ่งมีแผนพัฒนาและก้าวย่างอย่างมั่นใจไปบนทิศทางแห่งการพัฒนามหาวิทยาลัย ให้เป็นศูนย์รวมการศึกษาที่มาตรฐานโดยมีวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน