โลกปัจจุบันนั้นเต็มไปด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ที่เอื้อให้เราสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย รวดเร็ว และทรงประสิทธิภาพขึ้น ในต้นทุนที่ต่ำลง นวัตกรรมอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่สามารถพัฒนาศักยภาพในการทำงานได้ในทุกระดับขั้นและทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ ที่เทคโนโลยีได้เข้ามาเสริมความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรต่าง ๆ ทั้งในด้านการผลิต การบริการ การจัดการข้อมูล การเงิน การบริหาร ฯลฯ แต่หากองค์กรใดไม่สามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ แทนที่จะได้เปรียบ ก็กลับกลายเป็นเสียเปรียบในการแข่งขันไป
“คน” คือหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญต่อการแข่งขันภาคธุรกิจ เพื่อให้บุคลากรในองค์กรมีคุณภาพทัดเทียมหรือเหนือคู่แข่ง การพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ให้กับพนักงานจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง จึงเป็นที่มาของคำว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปองค์กรต่าง ๆ ยังจำเป็นต้องพึ่งพาวิธีการอบรมสัมมนาแบบเก่า โดยที่ต้นทุนเกินครึ่งสิ้นเปลืองไปกับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อุปกรณ์ สถานที่ วิทยากร อาหาร และที่พัก อีกทั้งผู้เข้าร่วมยังต้องสละเวลาในการทำงานอีกเป็นจำนวนมาก เหลือเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นต้นทุนของความรู้โดยแท้จริง อีกทั้งยากที่จะประเมินย้อนหลังได้ว่าการฝึกนั้นได้ผลตามจุดประสงค์ขององค์กรมากน้อยแค่ไหน
จากปัญหาข้างต้น การพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถเข้ามาขจัดปัญหาของการฝึกอบรมบุคลากรแบบเดิมๆได้ เช่น ระบบบริหารจัดการการเรียนรู้ (Learning Management System) แต่ส่วนใหญ่แล้วระบบถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานในสถานศึกษา ซึ่งโครงสร้างการบริหารผู้เรียนใน 1 วิชาจะขึ้นตรงกับอาจารย์ผู้สอนหนึ่งท่าน จึงไม่สอดคล้องกับโครงสร้างขององค์กรต่าง ๆ ที่บุคลากรต่างฝ่ายต่างแผนกต้องใช้ความรู้ความสามารถหลาย ๆ อย่างร่วมกันเช่น ทักษะการนำเสนอ หรือ ความรู้ด้านการตลาด เป็นต้น ทำให้รายงานความคืบหน้าต่าง ๆ ต้องถูกส่งไปยังหัวหน้าแผนกของผู้เรียน หรือแม้กระทั่งฝ่ายบุคคลก็ตาม
จึงมีความต้องการระบบบริหารจัดการการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรขององค์กร โดยระบบที่พัฒนาจะต้องเป็นระบบที่สามารถสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ และการสร้างองค์ความรู้ ให้สอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล โดยมุ่งเน้นที่จะผสมผสานนวัตกรรมด้านมัลติมีเดีย อินเทอร์เน็ต ระบบการประเมิณ การรายงานผลการเรียน ความปลอดภัยของข้อมูล และความสะดวกสบายในการเรียนรู้เข้าไว้ด้วยกัน ที่สามารถช่วยให้บุคลากรสามารถเข้าถึงความรู้และทักษะใหม่ ๆ ได้ด้วยต้นทุนที่คุ้มค่าอย่างแท้จริง โดยปราศจากข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่อย่างสิ้นเชิง
สามารถเข้าใช้งานได้ที่ : https://upskill.rmutt.ac.th
เข้าสู่ระบบโดยใช้ username และ password สำหรับใช้งานอินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัย
ฝ่ายบริการอุปกรณ์และบำรุงรักษา อาคาร iWork@RT สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
เบอร์ติดต่อ 02-549-3074 , 02-549-3634
วันที่: | 9 ธันวาคม 2022 |
หน้าแรก
หน้าผู้ใช้