เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2563
พงษ์พรรณ บุญเลิศ
พืชที่ให้เส้นใยนำมาทอเป็นผืนผ้า เครื่องนุ่งห่ม นอกจากฝ้าย ปอ ซึ่งใช้ประโยชน์มายาวนาน ยังมีพืชอีกหลายชนิดที่มีคุณสมบัติโดดเด่น เป็นเส้นใยที่เพิ่มความหลากหลายให้กับวัสดุสิ่งทอ
ผศ.ดร.สาคร ชลสาคร คณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรม ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และหัวหน้าโครงการพัฒนาเส้นใยธรรมชาติจากพืชเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มให้ความรู้เล่าถึงการพัฒนาเส้นใยกล้วย ผักตบชวาและเส้นใยมะพร้าวอ่อน พาสัมผัสคุณสมบัติพิเศษจากพืชดังกล่าวว่า สืบเนื่องจากการวิจัยพัฒนาเส้นใยธรรมชาติ ในภาพรวมของการวิจัยที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน เส้นใยจากพืชทั้งสามชนิดยังคงพัฒนาต่อเนื่อง รวมทั้งได้ถ่ายทอดต่อยอดไปยังเกษตรกรและผู้สนใจ
ย้อนถึงการเริ่มต้นการวิจัยซึ่งเริ่มจาก ผักตบชวา พืชที่สร้างการกีดขวางทางน้ำในแม่น้ำลำคลอง กีดขวางการคมนาคม ซึ่งส่งผลต่อการเกษตรกรรม การวิจัยในครั้งนั้นนักวิจัยจึงร่วม กันคิดหาวิธีที่สามารถนำผักตบชวามาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น จึงคิดค้นนำพืชดังกล่าวซึ่งมีเส้นใยที่มีความน่าสนใจ นำมาพัฒนา เป็นเส้นใยธรรมชาติสู่ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ พัฒนาคุณภาพเส้นใย ปั่นเป็นเส้นด้ายและทอผลิตเป็นผืนผ้า ตัดเย็บเสื้อผ้า เครื่อง แต่งกาย เส้นใยผักตบชวายังสามารถนำมาเป็นส่วนเสริมความแข็งแรง เปลี่ยนจากพืชที่เป็นปัญหา นำมาใช้ประโยชน์ เพิ่มคุณค่า ได้อย่างน่าสนใจ
ผศ.ดร.สาคร ขยายความเพิ่มอีกว่าจากนั้นต่อมาศึกษาวิจัย เส้นใยมะพร้าวอ่อน นำส่วนที่เหลือทิ้ง เหลือใช้นำมาใช้ประโยชน์เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า ทั้งนี้จากการส่งออกมะพร้าวจะต้องตัด เฉือนเปลือกออกเหลือเพียงลูกมะพร้าว ส่วนเปลือกด้านนอกที่เหลืออยู่จำนวนมากในแต่ละวัน มีวิธีการกำจัด หรือนำไปใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง จากโจทย์การวิจัยดังกล่าวจึงคิดค้น ซึ่งก็เป็นผลสำเร็จสามารถนำเส้นใยจากมะพร้าวอ่อน ปั่นเป็นเส้นด้าย ทอเป็นผืนผ้าใช้ในผลิตภัณฑ์สิ่งทอ
ส่วนการวิจัยพัฒนา เส้นใยกล้วย มีจุดหมายเช่นเดียวกันเพื่อสร้างประโยชน์ เพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งจังหวัดปทุมธานีเป็นพื้นที่เพาะปลูกกล้วยและส่งออก ต้นกล้วยที่เหลือจากการส่งออกหากคิดเฉลี่ยแต่ละวันมีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่สามารถทิ้งทำลายได้หมด อีกทั้งการเผาจะยิ่งสร้างมลพิษจึงเป็นที่มาของการคิดค้น นำวัสดุเหลือใช้มาทำเป็นเส้นใย ปั่นเป็นเส้นด้าย ทอผลิตเป็นผืนผ้า สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
“เส้นใยกล้วยที่พัฒนาขึ้น ทางจังหวัดปทุมธานีเห็นถึงความสำคัญ รวมถึงชุมชนในจังหวัดทั้งผู้ผลิตกล้วย และผลิตผ้าร่วมกันนำเส้นด้ายจากใยกล้วยทอเป็นผืนผ้าที่มีเอกลักษณ์ เป็นผ้าใยกล้วยบัวหลวง ซึ่งมีที่มาจากใยกล้วยและบัวหลวงซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดของปทุมธานี”
จากการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรนำมาเพิ่มคุณค่าและมูลค่า นักวิจัยของมหาวิทยาลัยได้มีส่วนช่วยในเรื่องการเพิ่มองค์ความรู้ และการบริการชุมชน นอกจากนี้การนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ ยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้และระหว่างการผลิตเส้นใย เพื่อนำมาเป็นเส้นด้าย ในช่วงการคิดค้นจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ
กระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจึงเป็นการผสานความร่วมมือร่วมกันนับแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ร่วมกันในห่วงโซ่การผลิต ซึ่งทำให้เกิดการหมุนเวียนในด้านคุณค่า มูลค่า รวมถึงองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกิดประโยชน์ขึ้นแก่ทุกฝ่าย โดยที่สำคัญผืนผ้าจากเส้นใยธรรมชาติมีเอกลักษณ์ เกิดเส้นใยชนิดใหม่ ๆ เพิ่มความหลากหลายให้กับผู้บริโภค สร้างความหลากหลายให้กับวัสดุสิ่งทอ
หัวหน้าโครงการพัฒนาเส้นใยธรรมชาติ ผศ.ดร.สาคร ให้มุมมองเพิ่มอีกว่า การค้นคว้าวิจัย เส้นใยชนิดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ถือเป็นการเพิ่มความหลากหลาย โดยในอดีตเราใช้เส้นใยจากฝ้าย ลินิน ป่านปอ ฯลฯ รวมทั้งใช้เส้นใยสังเคราะห์ที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งการที่เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ในทิศทางการดูแลรักษาธรรมชาติ เส้นใยวัสดุธรรมชาติจากพืชเป็นทิศทางของวัสดุรักษ์โลก การคิดค้นเส้นใยพืช ไม่ว่าจะเป็นพืชชนิดใด เป็นเรื่องที่ดีและมีความสำคัญ
ทางด้านคุณสมบัติโดดเด่นที่น่าสนใจ สำหรับ เส้นใยจากผักตบชวา เป็นเส้นใยธรรมชาติที่มีลักษณะเบา มีผนังเส้นใยบางเบา ช่องอากาศภายในเส้นใยมีขนาดใหญ่มาก โดยถ้านำเส้นใยผักตบชวากลายมาเป็นผนังคอนโดมิเนียม เป็นวอลล์เปเปอร์ก็จะ เป็นสิ่งทอที่มีน้ำหนักเบา เหมาะสมสำหรับอาคารสูง ๆ ช่วยลดภาระน้ำหนัก ฯลฯ
ส่วน เส้นใยมะพร้าวอ่อน คุณสมบัติพิเศษที่ธรรมชาติให้มาคือ ความสามารถในการต้านแบคทีเรีย ซึ่งเหมาะสมในการนำเส้นใยชนิดนี้ทอเป็นผืนผ้า นำไปเป็นสิ่งทอทางด้านการแพทย์ สามารถสวมใส่หรือสร้างสรรค์เป็นวัสดุสามารถป้องกันแบคทีเรีย
เส้นใยกล้วย ในความพิเศษของเส้นใยธรรมชาติชนิดนี้จะต่างจากเส้นใยอื่น ๆ คือ มีความเงามัน มีความแข็งแรง คล้ายคลึงดั่งไหม แต่เป็นไหมจากใยธรรมชาติจากพืช เป็นเส้นใยสวมใส่สบาย การผลิตที่ผ่านมาจึงมุ่งเน้นทางด้านแฟชั่น ด้วยที่เส้นใยมีความเงา มีความหรูหรามากกว่าเส้นใยทั้งสองชนิดที่กล่าวมา
“ผักตบชวาที่ลอยอยู่ในแม่น้ำ คูคลองกีดขวางทางน้ำ การคมนาคม การนำมาพัฒนาเป็นเส้นใยผักตบชวานอกจากช่วยลดค่าใช้จ่ายการกำจัดทำลาย ยังเกิดประโยชน์ต่อไปอีกหลายด้านดังที่กล่าวมา ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้ เช่นเดียวกับวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทั้งเปลือกมะพร้าวอ่อน และต้นกล้วยที่นำมาพัฒนาเป็นเส้นใยที่มีอัตลักษณ์”
ผศ.ดร.สาคร ให้มุมมองเพิ่มอีกว่า เส้นใยธรรมชาติเหล่านี้มีคุณสมบัติเด่นอีกด้านหนึ่งคือ ระบายความร้อนได้ดี ซึ่งก็เหมาะกับสภาพอากาศร้อนของฤดูกาล ทั้งยังมีคุณสมบัติในด้านความแข็งแรง อีกทั้งสีสันของเส้นใยมีเอกลักษณ์ สร้างสรรค์ลวดลายบนผืนผ้าได้น่าสนใจ ดังเช่น เส้นใยจากผักตบชวาจะมีความต่างจากผ้าฝ้าย ผ้าลินิน ทั้งยังมีน้ำหนักเบา เป็นต้น
ในด้านการแยกเส้นใยของพืชทั้งสามชนิดนี้ เส้นใยจากกล้วย สามารถแยกได้ง่ายและด้วยที่เส้นใยมีความเงามัน เศษต่างๆที่ติดมากับเส้นใยเมื่อสะบัดจะหลุดร่วงลงได้ง่าย ทำให้นำเส้นใยมาใช้ได้ง่ายกว่าชนิดอื่น ๆ อย่างไรก็ตามพืชที่ให้เส้นใยดังกล่าวยังคงพัฒนาต่อยอด ส่งต่อองค์ความรู้ ให้กับชุมชน ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันสานต่อ
ด้วยคุณสมบัติโดดเด่นของเส้นใยที่กล่าวมา นอกจากสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สิ่งทอใหม่ ๆ ปัจจุบันนักวิจัยมีความพยายามคิดค้นพัฒนาเส้นใยให้มีขนาดเล็กลงจากเดิมเพื่อให้ได้ผืนผ้าบางยิ่งขึ้น และพัฒนาผืนผ้าเพื่อนำไปใช้สำหรับการแพทย์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงศึกษาพืชให้เส้นใยชนิดอื่น ๆ เพิ่มขึ้น …
เพิ่มความหลากหลาย และทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคได้นำไปใช้ประโยชน์.
“ระบายความร้อนได้ดี เหมาะกับสภาพอากาศ”
Template file :: download-button does not exist!