สยามรัฐ ฉบับวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2562
อีกหนึ่งความสำเร็จของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่นักศึกษาคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ทีมMEC_T คว้าแชมป์ โครงการ Wheel Share Journey ประกวดออกแบบรถเข็นผู้พิการ
นำทีมโดย “แม็ค” นายพรพนา เก้าแพ “เรน” นายธีรพล คงดีพันธ์ “ตุลา” นายวรุตม์ บุศย์รัศมี นักศึกษาสาขาวิชาเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ พร้อมด้วย “เอ๋ย” น.ส.ศุภิสรา กาวีวน และ “เจ”นายพรพนา รัตนพันธ์ นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.ธัญบุรี มี อ.ธนรัตน์ชวพันธุ์ เป็นที่ปรึกษาและกำกับดูแลจากผลงานเข้าร่วมแข่งขันของนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ 287 ทีม คัดเหลือ 10 ทีมสู่รอบชิงชนะเลิศโครงการ Wheel Share Journey ประกวดออกแบบรถเข็นผู้พิการ เพื่อหาต้นแบบที่เหมาะกับการใช้งานในพื้นที่ท่องเที่ยว และจะถูกนำไปพัฒนาต่อเพื่อเตรียมผลิตให้แก่สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย จัดโดยบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี(มทร.ธัญบุรี)
ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก สายสุณีย์จ๊ะนะ นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบคนพิการทีมชาติไทย เธียร ทองลอย นักกีฬาวีลแชร์ยิงธนูคนพิการทีมชาติไทย พร้อมด้วยชนันท์กานต์ เตชะมณีวัฒน์ นักกีฬาวีลแชร์เทนนิสคนพิการทีมชาติไทย ร่วมเป็นกรรมการตัดสิน จัดขึ้นที่ห้องประชุมสงค์ธนาพิทักษ์ สำนักงานอธิการบดี มทร.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี
แม็ค เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นว่า มาจากการแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษาและเห็นว่า โจทย์มีความน่าสนใจมาก โดยจะต้องมีเกณฑ์ในการออกแบบที่ต้องคำนึงถึงการเคลื่อนที่ได้ในภูมิประเทศที่หลากหลาย ทนทาน บำรุงรักษาง่ายที่สำคัญต้องออกแบบให้มีต้นทุนไม่เกิน3,500 บาท
จากการประชุมกันของกลุ่มเห็นว่ารถเข็นผู้พิการในปัจจุบัน มีขีดจำกัดในการใช้งานบนพื้นผิวต่างๆ จึงต้องคิดหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้รถต้นแบบนี้ไปได้หลากหลายพื้นที่ และจากประสบการณ์ที่ใช้งานเป็นประจำของจักรยานล้อใหญ่Fatbike ที่มีสมรรถนะลุยกรวดหินดินทรายได้ หน้ายางใหญ่ ยืดหยุ่นสูง น้ำหนักเบา จึงดัดแปลงมาใช้ประกอบรถเข็น
ส่วนล้อหน้า ได้ศึกษารถเข็นของญี่ปุ่นซึ่งลุยหิมะได้ จึงนำแนวคิดการออกแบบมาดัดแปลงเพิ่ม ด้วยการนำระบบล้อสกีหน้ามาติดตั้งเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มหน้าสัมผัสของล้อหน้า จึงทำให้รถเข็นสามารถลุยในพื้นทรายได้ดียิ่งขึ้น ล้อไม่จม เคลื่อนที่ได้ง่าย
“เรน” อีกหนึ่งในสมาชิกของทีมเล่าว่า การออกแบบให้มีระบบกันกลับ ด้วยการนำแนวคิดรถเข็นในสนามบินมาปรับใช้ เพื่อให้ผู้พิการหยุดพักได้ระหว่างใช้งานในทางลาดชัน ขณะเดียวกันยังช่วยผ่อนแรงด้วย สามารถพักระหว่างทางได้โดยไม่ทำให้รถเข็นต้องถอยหลังกลับ
“จากการแข่งขันในรอบชิงขนะเลิศ รถเข็นของเราได้ผ่านการทดสอบสภาพพื้นผิวใน 4 ลักษณะ ทั้งเส้นทางที่ขรุขระ ทางชัน ทางลาดเอียงและบนพื้นทราย ซึ่งสามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี มีการเคลื่อนที่อย่างสะดวก”
ขณะที่ “ตุลา” เสริมว่า ยังได้เพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานโดยติดตั้งระบบ GPS แจ้งเตือนเมื่อรถเข็นเกิดพลิกคว่ำ หรืออยู่ในตำแหน่งที่ไม่พร้อมใช้งาน นอกจากนี้ ยังมีปุ่มกดขอความช่วยเหลือในเวลาที่ผู้พิการต้องการความช่วยเหลือหรือเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยจะแจ้งเตือนไปทางไลน์ของผู้ดูแลและเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วม ซึ่งว่าอยากจะพัฒนารถเข็นต้นแบบนี้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป ทั้งขนาดและน้ำหนักตัวรถ ความแข็งแรงและการใช้งานที่คล่องตัวมากยิ่งขึ้น
“ประสบการณ์จากเวทีครั้งนี้ สอนให้เห็นถึงความสำคัญ และความเท่าเทียมของผู้พิการ อยากให้เกิดการสานต่อจากความคิดนี้ต่อไป”