เมื่อพลังงานเชื้อเพลิงจากปิโตรเลียมที่นำมาใช้ในด้านคมนาคม มีราคาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่องและอาจเริ่มขาดแคลนในอนาคต หลายประเทศจึงให้ความสำคัญและพัฒนายานยนต์ที่ใช้พลังงานงานไฟฟ้ามาทดแทน จึงเป็นที่มาสำคัญในการออกแบบพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าของนักศึกษา มทร.ธัญบุรี ภายใต้ทีม RT57 ธัญบุรี
โดย ทีม “RT57 ธัญบุรี” ในครั้งนี้ ประกอบด้วย นายบุญมา มียวน นายสมเจตน์ เกียรติไพบูลย์ นายสันติ มีสุข นายอดิศักดิ์ แสงสุข นายทศพร พาลิตา นายพิเชษฐ์ เทพประสิทธิ์ นายจุมพฏ งิ้วลาย นายวรท ผาพิมพ์ และนายธวัชชัย ล่านาลาว นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี โดยมี ดร.สถาพร ทองวิค และ ดร.มนูศักดิ์ จานทอง อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล เป็นที่ปรึกษาหลัก ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศเป็นปีที่ 2 จากการเข้าร่วมโครงการแข่งขันรถไฟฟ้าประหยัดพลังงาน Eco Challenge 2014-15 ประเภทรถใช้งานในเมืองพลังงานไฟฟ้า จัดโดยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย ณ สนามทดสอบ บริดจสโตน จ.สระบุรี
นายบุญมา มียวน ในฐานะหัวหน้าทีม “RT57 ธัญบุรี” เปิดเผยว่า ในการแข่งขันรถไฟฟ้าประหยัดพลังงาน Eco Challenge 2014-15 นี้ ได้นำประสบการณ์จากการแข่งขันเมื่อปีก่อนมาปรับใช้ในการแข่งขัน เพื่อคิดค้นยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้น ลดอัตราการสิ้นเปลืองพลังงาน และต้องสามารถนำไปใช้งานได้จริง รวมทั้งลดมลพิษทางอากาศ ตามโจทย์การแข่งขัน โดยได้ออกแบบตัวโครงรถใหม่ให้แข็งแรง สามารถรองรับน้ำหนักได้ตามที่กำหนด และออกแบบให้รถมีน้ำหนักรวมลดลง วางจุดศูนย์ถ่วงรถอย่างเหมาะสม เพิ่มตัวกันโครงรักษาสมดุลขณะเลี้ยวรถในทางโค้ง เปลี่ยนระบบรองรับน้ำหนักและกันสะเทือน ออกแบบชุดห้ามล้อให้มีความปลอดภัย และออกแบบชุดเกียร์ส่งกำลังใหม่เพื่อเพิ่มสมรรถนะการส่งกำลัง รวมถึงปรับปรุงบางส่วนของระบบไฟฟ้า จึงทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าต้นแบบนี้ประหยัดพลังงาน มีความปลอดภัยและใช้งานได้จริง
“ทีมของเราได้เตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี บวกกับประสบการณ์จากการแข่งขันเมื่อปีก่อน และได้รับความอนุเคราะห์จากอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ภาควิชาอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม และภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ที่ให้คำแนะนำ ตลอดระยะเวลากว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ที่ทีมของเราได้ร่วมกันสร้างและออกแบบยานยนต์นี้ นับว่าคุ้มค่ามาก เพราะได้เรียนรู้และได้ลงมือปฏิบัติจริง”
ขณะที่ นายอดิศักดิ์ แสงสุข หนึ่งในทีม “RT57 ธัญบุรี” เล่าเสริมว่า “ในการพัฒนายานยนต์ครั้งนี้ เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ ทางทีมงานจึงได้ปรับใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ โดยแบ่งอัตราส่วนร้อยละ 70 จากรถต้นแบบที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเมื่อปีก่อน ได้แก่ ภาคควบคุมการขับเคลื่อนมอเตอร์และมอเตอร์แบบ BLDC ขนาด 5 kW แบตเตอรี่ Lithium 48V 30Ahr. Charger ชุดบังคับเลี้ยว พวงมาลัย เบรกมือ และระบบไฟฟ้ารถยนต์ทั้งหมด เป็นต้น”
“รู้สึกสนุกมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในออกแบบยานยนต์ไฟฟ้า ความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีที่ได้รับจากการลงมือปฏิบัติ รวมถึงประสบการณ์การแข่งขันในครั้งนี้ เหมือนเป็นการเปิดโลกทัศน์แห่งความรู้ใหม่ๆ ที่ไม่น่าเบื่อ ทำให้เรียนรู้ในด้านวิศวกรรมยานยนต์ การทำงานเป็นทีม การยอมรับความคิดเห็นของเพื่อนร่วมทีม การแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งในระหว่างการคิดค้นและการลงสนามจริง และที่มากไปกว่านั้น คือ การสร้างนวัตกรรมด้านยานยนต์ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงานด้วยฝีมือของนักศึกษากว่าทั้งหมด 9 ชีวิต”
ด้าน ดร.สถาพร ทองวิค อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวเพิ่มว่า นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าประหยัดพลังงานนี้ ชาร์ตไฟหนึ่งครั้ง มีค่าใช้จ่ายไฟฟ้าประมาณไม่เกิน 5 บาท โดยการชาร์ตต่อครั้งใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง ซึ่งมีระยะทางการวิ่งอยู่ที่ 30 กิโลเมตร หรืออธิบายง่ายๆ ว่า ยานยนต์ไฟฟ้านี้วิ่ง 30 กิโลเมตร มีค่าใช้จ่ายไฟฟ้าเป็นเงิน 5 บาท โดยผลรวมแล้วมีราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงรูปแบบอื่นๆ ยานยนต์ไฟฟ้าต้นแบบนี้ใช้งบประมาณโดยรวมทั้งหมด 400,000 บาท/คัน
“เป็นความภาคภูมิใจของคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันและได้รับรางวัลชนะเลิศต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยโครงการนี้เป็นการบูรณาการทั้งอาจารย์และนักศึกษาต่างสาขาวิศวกรรมเข้าด้วยกัน ถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการ ทักษะและสร้างความสามัคคีจากการทำงานร่วมกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าประหยัดพลังงานให้ดีที่สุด”
นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้นวัตกรรมด้านวิศวกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ผ่านการสร้างและปรับปรุงโดยฝีมือนักศึกษา สามารถกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทักษะและนำไปสู่การแข่งขันในระดับประเทศและระดับอาเซียนต่อไปในอนาคตได้
นายอลงกรณ์ รัตตะเวทิน นักประชาสัมพันธ์ กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
โทร. 02 549 4990 , 086 106 4454