ผ่านพ้นไปกับ “โครงการปูนหมัก ปูนตำ ปูมปั้นสร้างสรรค์ศิลปะไทย” จัดขึ้นโดยสถาบันศิลปสถาปัตยกรรมไทยเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับ สถาบันการศึกษาทางสถาปัตยกรรม จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) โครงการ ปูนหมัก ปูนตำ ปูนปั้น สร้างสรรค์ศิลปะไทย เนื่องในโอกาสวันอนุรักษ์มรดกไทย ปีพุทธศักราช 2556 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ และปลูกฝังให้เยาวชนในสถาบันการศึกษา เกิดความสนใจและตระหนักถึงคุณค่าภูมิปัญญาสร้างสรรค์ปูนปั้นในงานสถาปัตยกรรมไทย เพื่อเป็นการอนุรักษ์ สืบสานมรดกงานช่างศิลปะแขนงนี้ให้ดำรงอยู่สืบไป
โดยภายในโครงการมีการจัดอบรมบรรยายวิชาการ ร่วมกับการทัศนศึกษาดูงานปูนปั้น ณ วัดต่างๆ ในจังหวัดเพชรบุรี และเข้าร่วมเรียนรู้ปฏิบัติการปั้นปูนสดจากครูทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติด้านงานปูนปั้น ปีพุทธศักราช 2554 หลังจากที่ได้รับการอบรมและศึกษาดูงาน นักศึกษาทั้ง 25 คน ต้องนำความรู้ที่ได้มาแข่งขัน “ปูนปั้นสร้างสรรค์ศิลปะไทย” ชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยผลการแข่งขันรางวัลชนะเลิศได้แก่ทีม กลุ่มขนมเม็ดขนุน ประกอบด้วย นายเลอศักดิ์ ยอดระบำ นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี นางสาวอนงค์ลักษณ์ ไก่แก้ว นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และนางสาวนิภาภรณ์ ยิ้มผึ้ง นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ทีมกลุ่มขนมอาลัว นายสหวัฒน์ ศรีเทพ นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นายธรณิศ ปรีชาเกรียงไกร นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นายจรัญ ปานดี นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ทีมกลุ่มขนมทองเอก นางสาวศิริญญา ปัญญะภาโส คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง
นายสุเทพ สังข์ศรีอินทร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และ
นางสาวพิมพ์พนิตา ศรีภิรมย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
นายเลอศักดิ์ ยอดระบำ ตัวแทนทีมชนะเลิศ เล่าว่า ผลงานชนะเลิศชื่อ “ซุ้มศาลาคลุมใบเสมาวัดสระแก้วจังหวัดเพชรบุรี” มีแนวคิดมาจากงานปูนปั้นเมืองเพชรบุรี มีรูปแบบเฉพาะ คือ เป็นแบบลายเครือเถา โดยได้นำมาประยุกต์กับดอกบัวบาน โดยยกดอกบัวบานเป็นองค์ประกอบหลัก ต้องการสื่อถึงวัดสระแก้ว วัตถุดิบที่ใช้เป็นการปั้น ปูนตำ เป็นปูนเฉพาะของเพชรบุรี ซึ่งมีกรรมวิธีการผลิตของครูปูนในพื้นที่ มีคุณสมบัติแห้งช้า สามารถปั้นลวดลายที่ดูอ่อนช้อยได้ดีกว่าปูนปกติ ภูมิใจที่ครั้งหนึ่งได้เข้าร่วมโครงการนี้ “ส่วนตัวสนใจในรูปแบบของสถาปัตยกรรมและศิลปะไทย ซึ่งเป็นศิลปะประจำชาติไทย นอกจากนี้ยังได้ร่วมกลุ่มกับเพื่อนต่างมหาวิทยาลัยฯ ทีมประกอบด้วยมหาวิทยาลัยศิลปากร และ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้ร่วมงานกันเป็นสมาชิกทีม จาก 10 ทีม” เลอศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
ชลธิชา ศรีอุบล
กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี 0-2549-4994