ทีม “RT56 ธัญบุรี” ประกอบด้วย “บิ๊ก” นายธวัชชัย ล่านาลาว “ตูน“ นายสมเจตน์ เกียรติไพบูลย์ “หมอก” นายบุญมา มียวน “จู” นายจุมพฎ งิ้วลาย “เอ็ม” นายทศพร พาลิตา “เชษ” นายพิเชษฐ์ เทพประสิทธิ์ “สัน” นายสันติ มีสุข “บอล” นายอดิศักดิ์ แสงสุข “ณุ” นายภาณุพงษ์ สอนชา และ “แม็ค” นายวรท ผาพิมพ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 (หลักสูตรต่อเนื่อง) ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดยมี ดร.สถาพร ทองวิค ดร.มนูศักดิ์ จานทอง และ ผศ.ประยุทธ ดวงคล้าย เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา คว้ารางวัลชนะเลิศ ECO CHALLENGE 2013-14 ประเภทรถวิ่งในเมือง (Urban Concept) พลังงานไฟฟ้า จัดโดยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย
บิ๊ก หัวหน้าทีม เล่าว่า เมื่อทราบโจทย์ในการแข่งขันโครงการยานยนต์ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน Eco Challenge 2013-14 ทีมเราได้ร่วมกันออกแบบ สร้าง และพัฒนายานยนต์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม จากแนวคิดว่าในสภาวะโลกร้อนมลพิษที่เกิดขึ้นในเมือง และเชื้อเพลิงที่ใช้กันอยู่ปัจจุบันกำลังน้อยลงทุกที พลังงานไฟฟ้าสามารถผลิตจากพลังงานสะอาดได้หลายวิธีทั้งจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม การนำมาใช้เป็นการช่วยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงปิโตรเลียมและเป็นการช่วยลดมลพิษได้มากกว่าการใช้เชื้อเพลิงแบบปกติ โดยจากการศึกษาข้อมูล พบว่าการใช้งานของรถยนต์ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ในเมืองมากกว่าการเดินทางไกลๆ จึงเหมาะสมกับการใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าทั้งประหยัดพลังงาน ต้นทุนต่ำกว่า และยังปล่อยมลพิษน้อยกว่า ทางทีม RT56 ธัญบุรี จึงช่วยกันคิดค้น “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าให้ประสิทธิภาพการทำงานสูงสุดขึ้น ลดมลพิษที่เกิดจากการใช้เชื้อเพลิงปิโตรเลียม ประหยัดพลังงานและที่สำคัญสามารถนำไปใช้งานได้จริง
เทคนิคในการออกแบบควบคุมด้วย ระบบไฟฟ้า และระบบทางกล โดยระบบไฟฟ้าประกอบด้วย วงจรภาคควบคุม (Control Circuit) วงจรภาคกำลัง (Power Circuit) โดยวงจรภาคกำลังทำหน้าที่ ควบคุมการทำงานในส่วนของมอเตอร์ขับ 3 เฟสแบบไร้แปรงถ่าน (BLDC Motor) โดยมีส่วนประกอบหลักที่มีหน้าที่ต่าง ๆ ในวงจรภาคกำลัง ประกอบด้วย แบตเตอรี่แบบลิเทียม (Lithium Battery) มีขนาด 48V ทำหน้าที่ จ่ายแรงดัน (แรงดันวัดสูงสุดไม่เกิน 52V) ให้แก่มอเตอร์ขับ BLDC ระบบแสดงผลสถานะแบตเตอรี่ (Battery Monitoring System) ทำหน้าที่แสดงสถานะจ่ายไฟของแบตเตอรี่ เพื่อควบคุมและป้องกันไม่ให้แบตเตอรี่ไหม้หรือระเบิด เครื่องวัดพลังงาน (Energy Meter or Joule Meter) เป็นเครื่องวัดพลังงานที่มอเตอร์ขับใช้ไป และเครื่องควบคุมมอเตอร์ BLDC (BLDC Motor Controller) ทำหน้าที่สร้างแรงดันและความถี่ที่เหมาะสมให้แก่มอเตอร์ขับ BLDC โดยมีส่วนสั่งการทำงานในสภาวะต่าง ๆ ดังนี้ เกียร์สวิตช์ (Gear Switch) ตัวควบคุมความเร็ว (Speed Control) มอเตอร์ขับ 3 เฟส แบบไร้แปรงถ่าน (Brushless DC Motor, BLDC) คอนแทคเตอร์ (Contactor 48V)
“รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” เป็นนวัตกรรมที่ผลิตขึ้นเพื่อพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า ช่วยลดมลพิษจากเชื้อเพลิงปิโตรเลียม สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ และพัฒนาให้มีประสิทธิภาพต่อไป แนวคิดเจ๋งๆ ที่ต้องการนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้า มาใช้ได้จริง ปรบมือให้กับน้องนักศึกษา มทร.ธัญบุรี ทั้ง 10 คน
ชลธิชา ศรีอุบล
กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี