ไทยรัฐ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563
ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า จากนโยบายของคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ได้สนับสนุนให้มีการดำเนินโครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยแก้ปัญหาและลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตนจึงมอบหมายนักศึกษาสร้างนวัตกรรมและงานวิจัยที่สอดคล้องกับกรอบวิจัย นักศึกษาสามารถใช้นวัตกรรมนี้เป็นโครงงานโปรเจกต์ของตนเอง เพื่อจบการศึกษาได้ ซึ่ง น.ส.สิริวดี กิจจา นายชัยศิริ โพธิ์คำ และนายชาณุวัฒน์ สัตยาคุณ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิศวกรรมอุตสาหการการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ จึงได้ร่วมกันออกแบบและติดตั้ง “ประตูตรวจวัดอุณหภูมิคัดกรองบุคคลอัตโนมัติ” ที่ทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงขึ้น เพื่อเฝ้าระวังและคัดกรองบุคคลลด ความเสี่ยงให้บุคลากรประจำจุดคัดกรอง
ดร.กุลชาติกล่าวอีกว่า สำหรับหลักการทำงานของประตูตรวจวัดอุณหภูมินี้ประตูจะเปิด-ปิดแบบสวิงเกตเหมือนรถไฟฟ้าที่ใช้กันเป็นประจำ มีเซ็นเซอร์ 2 ตัว คือเซ็นเซอร์อุณหภูมิ และเซ็นเซอร์ระยะห่างของบุคคล ตัวเซ็นเซอร์อุณหภูมิสามารถสแกนอุณหภูมิร่างกายของผู้ใช้ในช่วง 30-50 องศาเซลเซียส โดยผู้ใช้นำใบหน้าเข้ามาใกล้เซ็นเซอร์ประมาณ 5เซนติเมตร เพื่อความแม่นยำในการวัดอุณหภูมิ มีสัญญาณสีที่ประตูและสัญญาณเสียงบอกอุณหภูมิตรวจเมื่อไม่มีบุคลากรประจำจุดคัดกรอง และเพื่อป้องกันคนที่สแกนไม่ผ่านลักลอบเข้าไป ดังนั้น จึงออกแบบประตู ทำเป็นสีไฟ และมีการควบคุมผ่านกล้องวงจรปิด สำหรับโครงการนี้เป็นการใช้นวัตกรรมมาเสริมสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติ
ด้าน น.ส.สิริวดีกล่าวว่า ประตูตรวจวัดอุณหภูมิคัดกรองบุคคลอัตโนมัติ เป็นการตรวจแบบไร้สาย โดยหลักการทำงานของอินฟราเรด เทอร์โมมิเตอร์เป็นตัววัดอุณหภูมิ และอัลตราโซนิกวัดระยะด้วยคลื่นเสียง ส่งสัญญาณมายังเซ็นเซอร์ ประตูทำการแจ้งอุณหภูมิ ไฟแสดงสถานะมี 3 สี ไฟสแตนด์บายเป็นสีน้ำเงิน ไฟสแตนด์อุณหภูมิผ่านเป็นสีเขียว ใช้งบประมาณในการออกแบบและพัฒนาเพียง 30,000 บาท เหมาะกับหน่วยงานที่ต้องติดตั้งจำนวนมากด้วยต้นทุนไม่สูง สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.0-2549-3400 หรือทางเว็บไซต์ www.rmutt.ac.th