กรณีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ให้สัมภาษณ์ว่า ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป ประเทศไทยและโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงที่นำมาสู่ความ ปั่นป่วน จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จึงต้องเตรียมตัวรับมือ คือการเตรียมอาชีพสำหรับอนาคตนั้น
เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม นายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า เรื่องเทคโนโลยีที่จะเข้ามาในอนาคตเป็นเรื่องที่ถูกต้อง มหาวิทยาลัยที่เน้นสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต้องปรับตัวตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาแรงงานในอนาคตให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ส่วนของ มทร.ทั้ง 9 แห่ง ได้ปรึกษาหารือและร่วมกันทำแผนปรับปรุงเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เพื่อรับมือต่อเทคโนโลยีที่จะเข้ามาในอนาคตแล้ว คือ รายวิชาและสาขาที่เปิดสอนต้องมุ่ง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลทั้งหมด เช่น อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรม เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ เป็นต้น
นายประเสริฐกล่าวว่า นอกจากรัฐบาลจะมี นโยบายออกมาแล้ว ยังอยากให้รัฐบาลมีงบประมาณที่สนับสนุนมหาวิทยาลัยออกมาด้วย และอยากให้ภาคเอกชนให้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย เพื่อให้พัฒนากำลังคนตอบสนองภาคอุตสาหกรรมไปด้วยกัน อย่างไรก็ตาม การพัฒนากำลังคนให้เห็นผลของการเปลี่ยนแปลงต้องในระยะเวลานาน อาจจะเป็น 10 ปี 15 ปี แต่ขณะนี้ มทร.ทั้ง 9 แห่ง ต่างขานรับนโยบายรัฐบาลในการผลิตกำลังคนที่จะเพิ่มแรงงานเพื่อรองรับอาชีพในอนาคตแล้ว เพราะวันข้างหน้า หุ่นยนต์จะถูกใช้ในการทำงานมากยิ่งขึ้น และจะให้คนทำงานน้อยลง แต่การใช้คนน้อยลงก็ต้องใช้คนที่มีเข้ารู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีและมีสมรรถนะขั้นสูงเข้ามาทำงานด้วยเช่น
“ต้องพัฒนาคน 3 ระดับ คือ 1.ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ให้มีเทคนิคขั้นสูง 2.กลุ่มนักศึกษาเทคโนโลยี ที่ต้องพัฒนาเป็นแรงงานที่มีทักษะขั้นสูง และ 3.ต้องพัฒนาบัณฑิตที่จบการศึกษา ให้มาเสริมทักษะเพื่อเป็นแรงงานผู้ใช้ประสบการณ์และเทคนิคขั้นสูง ขณะนี้มหาวิทยาลัยทุกแห่งต่างปรับตัวตามแนวทางนี้ทั้งหมด และเตรียมตัวโดยทำหลักสูตรระยะสั้น เพื่อให้บัณฑิตที่จบไปกลับเข้ามาเรียนเพื่อเสริมทักษะ พัฒนาตนเองด้วย” นายประเสริฐกล่าว