กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2562
ชุลีพร อร่ามเนตร
qualitylife4444@gmail.com
เนื่องจากนักศึกษาเกือบทุกคณะ อยากเป็นผู้ประกอบการ ขายสินค้าออนไลน์ได้ พวกเขามีจินตนาการ มองความรู้สู่อาชีพ มหาวิทยาลัยต้องบ่มเพาะให้นักศึกษาพร้อม เป็นผู้ประกอบการ นักธุรกิจ ทำงานวิจัย สู่การเป็นผู้ประกอบการ สร้างธุรกิจของตนเอง เป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
กรุงเทพธุรกิจมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ร่วมมือ กับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (สสว.) ในโครงการ SME Online ซึ่งปีนี้เข้าสู่ปีที่ 3 ภายใต้แนวคิด Digital to Global ส่งเสริมพัฒนา ตลาดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับ SMEs โดยเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ อบรมบ่มเพาะ ต่อยอด นำนวัตกรรม เทคโนโลยี และ งานวิจัย เปิดกว้างให้นักศึกษาและคณาจารย์ได้เรียนรู้ เป็นส่วนหนึ่งในการเป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ เพิ่มมูลค่าสินค้าและ บริการให้แก่ผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่
ปั้น SMEs สู่ตลาดโลก
รศ.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมา มี SMEs เข้าร่วมโครงการได้รับความรู้เกี่ยวกับการทำตลาดออนไลน์แล้วกว่า 3.7 หมื่นราย เตรียมความพร้อมในการถ่ายภาพสินค้าและจัดทำรายละเอียดสินค้ากว่า 6.7 หมื่นผลิตภัณฑ์ สามารถเปิดร้านค้าออนไลน์ได้กว่า 5,000 ร้านค้า และสร้างยอดขายให้กับผู้ประกอบการกว่า 240 ล้านบาท
โดยกลุ่มผู้ประกอบการต้องการการสนับสนุนที่แตกต่างกัน บางกลุ่มต้องการเรื่องมาตรฐานคุณภาพ บางกลุ่มขาดเงินทุน ขาดเทคโนโลยี ในโครงการดังกล่าวมหาวิทยาลัยรับผิดชอบในกลุ่ม SMEs ภาคกลาง ซึ่งมีความเข้าใจเรื่องมาตรฐานสินค้า ผลิตภัณฑ์ แต่พวกเขายังต้องการทุนสนับสนุน ต้องการกำลัง และต้องการไปต่างประเทศ
ในปี 2562 นี้ตั้งเป้าส่งเสริมผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 15,080 ราย เตรียมความพร้อมสินค้าและบริการไม่น้อยกว่า 3 หมื่นผลิตภัณฑ์ และสร้างยอดขายให้กับผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท โดยมุ่งพัฒนาสินค้าให้เป็นสินค้าพรีเมียม และมุ่งพัฒนาตลาดที่ใหญ่ขึ้น ไม่ได้ขายเฉพาะในประเทศ
ปลูกฝังผู้ประกอบการรุ่นใหม่
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการ SMEs ต้องเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำไปปลายน้ำอย่างเป็นระบบและต้องทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมหาวิทยาลัยมีศูนย์นวัตกรรมและความรู้ RMUTT Innovation & Knowledge Center ชั้น 7 ศูนย์การค้าบางซื่อจังชั่น (DD Mall) จตุจักร กทม. เป็นศูนย์กลางให้ SMEs ทั้งภาคกลาง และทุกๆ SMEs รวมถึงศิษย์เก่า ได้เข้าพัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์ก้าวสู่ตลาดออนไลน์ระดับสากล
รวมถึงผลักดันและปลูกฝังความเป็น ผู้ประกอบการให้แก่เด็กรุ่นใหม่ โดยได้พัฒนานักศึกษา และทำ e-Commerce ผ่านการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม โดยเฉพาะงานวิจัย ของนักศึกษา คณาจารย์ที่ได้รับ รางวัลระดับชาติ นานาชาติ ส่งเสริมต่อยอดให้กลุ่ม SMEs ยกระดับศักยภาพตนเองโดยสามารถใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ ห้องแล็บของมหาวิทยาลัยได้
ทั้งนี้แบ่งการพัฒนา SME Online 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ไม่มีความรู้ออนไลน์สอนพัฒนาการใช้ ออนไลน์ เทคนิคต่างๆ2.กลุ่มที่มี สินค้า มีตลาดออนไลน์ แต่ไม่สามารถ เชื่อมโยงออนไลน์ไปสู่กลุ่มใหญ่ได้ และ 3.กลุ่มที่มีตลาดออนไลน์ มีสินค้า มีศักยภาพ แต่ไม่สามารถขายในระดับสากลได้ ซึ่งแต่ละกลุ่มนั้นมหาวิทยาลัยสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้และสามารถขายสินค้าออนไลน์ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีศักยภาพแต่ยังไม่สามารถก้าวสู่สากลได้
ซึ่งขณะนี้มีการเชื่อมโยง 2 ภาคส่วน คือ กลุ่มตลาดประเทศมัลดีฟส์ และประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีความชื่นชอบสินค้าไทย และกลุ่มประเทศจีน ตลาดรายใหญ่ ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ออกร้านค้าแสดงและการขายออนไลน์ในประเทศจีน
ชูเครือข่าย นศ.-SMEs ออนไลน์
นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมให้นักศึกษาและคณาจารย์ได้เรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการ และสร้างธุรกิจของตนเอง ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านชื่นชมสินค้าไทยมาก โดยเฉพาะสินค้าที่ทำด้วยมือ
แต่จะทำให้ยั่งยืนได้ต้องเป็น สินค้าคุณภาพ มีมาตรฐาน ผู้ผลิตหรือผู้ค้าต้องเข้าใจสินค้าของประเทศ นั้นๆ โฟกัสไปยังตลาดสินค้าที่ต้องการ เข้าใจวัฒนธรรมแต่ละประเทศศึกษารายละเอียดสินค้า และต้องรู้จริงเรื่องตลาดออนไลน์ทั่วโลก จึงต้องพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ให้มีศักยภาพในหลายๆ ด้าน และ พร้อมนำเทคโนโลยี นวัตกรรม งาน วิจัยยกระดับสินค้าผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการสู่ตลาดออนไลน์ระดับโลกได้