กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 02 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
กรุงเทพธุรกิจ กองทุนวิจัยและพัฒนา กสทช. หนุน มทร. ธัญบุรีพัฒนาบ้านปราชญ์เปรื่องด้วยปัญญาประดิษฐ์ เผยจุดเด่นการประมวลความคิดและคำสั่ง เชื่อมโยงเครื่องใช้ไฟฟ้าให้ฉลาด เหนือกว่าบ้านอัจฉริยะทั่วไป
รศ.กฤษณ์ชนม์ ภูมิกิตติพิชญ์ ผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา และอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า ได้รับทุนวิจัยจากกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “บ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 ปฏิวัติอุตสาหกรรมการใช้ไฟฟ้าและการป้องกันภัย” ภายใต้แนวคิดบ้านอัจฉริยะแบบใหม่ (New Smart Home Concept) หรือ บ้านปราชญ์เปรื่องด้วยปัญญาประดิษฐ์ งานวิจัยจะพัฒนาตัวบ้านให้เป็นอัจฉริยะ มีกระบวนการคิดและ ประมวลผลคำสั่งภายในตู้รวมไฟฟ้า ก่อนการส่งคำสั่งไปดำเนินการด้วยปัญญาประดิษฐ์ โดยเป็นการนำตู้รวมไฟฟ้าสมองกลอัจฉริยะที่เคยพัฒนามาระดับหนึ่งมาต่อยอดทำเป็นสมอง หรือซีพียูหลักของบ้าน ซึ่งจะทำให้เกิดความปลอดภัย สะดวกสบายและสามารถควบคุมสั่งการได้ด้วยไอคอนสัญลักษณ์ อีกทั้งทำให้รู้ข้อมูลทุกอย่างด้านไฟฟ้า ทำให้การจัดการเครื่องใช้ไฟฟ้าและการใช้ไฟฟ้าเป็นไปอย่างปลอดภัยเหนือกว่าบ้านอัจฉริยะ
“สิ่งนี้คือการทำให้สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศมาบรรจบกัน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบเดียวกับโทรศัพท์บ้านที่มาสู่โทรศัพท์มือถือ การเปลี่ยนบ้านให้ปราชญ์เปรื่องและคิดได้เองที่จะยุติการสั่งการที่ไม่ปลอดภัย แจ้งเตือน ดำเนินการทำงานตามคำสั่งที่ปลอดภัย และแสดงผลลัพธ์แบบที่เรียกว่าบ้านปราชญ์เปรื่อง เป็นการจัดการไฟฟ้าภายในบ้านด้วยสมองกลฝังในบ้านที่ปลอดภัย ในขณะที่สร้างความสะดวกสบายและไม่สูญเสียการควบคุมแบบเดียวกับระบบบ้านอัจฉริยะ นั่นคือเราทำทุกอย่างที่บ้านอัจฉริยะทำได้ แต่บ้านอัจฉริยะทำทุกอย่างที่เราทำไม่ได้” รศ.กฤษณ์ชนม์ กล่าว
แม้บ้านอัจฉริยะที่เคยมีคนทำมา ก่อนหน้านี้ จะมีฟังก์ชันที่ทำได้คล้ายๆ กัน แต่การส่งข้อมูลไปทุกคำสั่งต้องส่งผ่าน ดาต้าชาแนลโดยไม่สนใจสภาพของระบบไฟฟ้าว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ ในขณะที่ ตู้รวมไฟฟ้าของบ้านปราชญ์เปรื่องจะสั่งการโดยตรงไปยังอุปกรณ์ที่ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์อัจฉริยะหรืออุปกรณ์รุ่นเก่าได้ หรือจะส่งผ่านดาต้าชาแนลก็ได้ และ จะดำเนินการตามคำสั่งก็ต่อเมื่อสภาพ ของระบบไฟฟ้าปลอดภัย
หากมีอะไรไม่ปกติก็จะทำการสั่งตัดการจ่ายไฟฟ้าทันที ในแง่ของผู้ใช้ไฟฟ้า ที่สั่งการผ่านแอพพลิเคชั่นก็จะมองว่าบ้านปราชญ์เปรื่องกับบ้านอัจฉริยะเหมือนกันในแง่ของผลลัพธ์การสั่งการ แต่สำหรับการประมวลผลและการจัดการภายในระบบนั้นต่างกัน เพราะในระบบบ้านปราชญ์เปรื่อง บ้านช่วยเราคิดก่อนตัดสินใจ
“เราคือหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่เน้น ด้านการทำการวิจัยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม และการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อให้เกิดการนำไปใช้เชิงพาณิชย์ ในวันนี้ เราจึงได้ร่วมมือทำงานกับทีมวิจัยสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาให้คำปรึกษากับภาคเอกชนในการผลักดัน แนวคิดบ้านปราชญ์เปรื่องสู่พาณิชย์นี้ เพื่อสร้างความแตกต่างจากผู้พัฒนาบ้านอัจฉริยะทั่วไป” รศ.กฤษณ์ชนม์ กล่าว