ไทยรัฐ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 06 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
โลกเราย่ำแย่เพราะน้ำมือมนุษย์มาแสนนานก่อนที่มันจะเกินเยียวยาไปกว่านี้หลายฝ่ายควรหันมามองปัญหาเหล่านี้แต่ด้วยเป็นปัญหาระดับโลกการแก้ไขจึงต้องอาศัยกระแสมหาชนทั่วโลกร่วมใจกันขับเคลื่อนจึงจะสำเร็จหรืออย่างน้อยลดการซ้ำเติมธรรมชาติลงได้
นี้คือประโยคคำพูดช่วงหนึ่งของ “คุณนิ่ม” (วราภรณ์มนัสรังษี)ผู้บริหารและเจ้าของบริษัทเคะเฟรชจำกัด และบริษัท ออลโคโค กรุ๊ป จำกัด บริษัทผู้ริเริ่มพัฒนาต่อยอดมะพร้าวน้ำหอมไทยให้เป็นที่รู้จักระดับโลก
Business On My Way สัปดาห์นี้ขอพาไปรู้จักดังกล่าวซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่ใช่แค่คิดจะพัฒนาแต่ผลิตภัณฑ์เพื่อออกจำหน่ายสู่ตลาดแต่ยังใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเพื่อหวังส่งมอบโลกที่น่าอยู่ในลูกหลานต่อไป
คุณนิ่มเล่าว่าวันนี้ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องไม่ใช่แค่คิดแต่ต้องลงมือทำด้วยซึ่งคำว่า SAVE theWorld จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่แต่ละคนต้องไปคิดให้สอดคล้องกับงานของตนเริ่มด้วยทบทวนเรื่องใกล้ตัวแม้เป็นเรื่องเล็กๆใกล้ตัวก็เริ่มได้ ซึ่งมองว่าเรื่องเล็กใหญ่ไม่สำคัญเท่าการมีหัวใจสีเขียวเพื่อลูกหลานของเรา
“บริษัท เคะเฟรช จำกัด และบริษัท ออลโคโค กรุ๊ป จำกัด จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในผู้สำนึกรักสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการของเสียเหลือศูนย์ (ZERO WASTE PROJECT)ในโรงงานซึ่งเริ่มทำตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 โดยพยายามนำของเหลือใช้จากไลน์การผลิตมาทำให้เกิดประโยชน์”
คุณนิ่มเล่าว่าบริษัทเค-เฟรชฯ ดำเนินธุรกิจส่งออกมะพร้าวน้ำหอมมากกว่า 20 ประเทศหลังจากกระบวนการควั่นมะพร้าวเพื่อส่งออกจะมีเปลือกสดประมาณ 20 ตัน/วัน ทางบริษัทจึงพยายามคิดวิธีที่ดีกว่าการนำไปถมที่หรือทิ้งเป็นขยะสด โดย 2 ปีที่ผ่านมา ได้เริ่มงานวิจัยและพัฒนาขึ้นเช่นเรื่องผ้าใยมะพร้าวน้ำหอมโดยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรีและขอทุนจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (THTI) ผลที่ได้คือ ผ้าใยมะพร้าว ต้นแบบทั้งแบบผ้าทอและผ้าถัก
โดยหากจะทำเป็นรูปแบบเชิงพาณิชย์ในอนาคตจะต้องแก้ปัญหาทางเทคนิคด้านการเตรียมเส้นใยมะพร้าวทั้งนี้ยังมีเรื่องที่อยู่ระหว่างการสร้างงานคือการนำเปลือกมะพร้าวมาตีเป็นเส้นใยแล้วขึ้นรูปเป็นวัสดุกันกระแทกทำกล่องแพ็กไข่ไก่, กระดาษใยมะพร้าว, วัสดุรองปลูกและสิ่งที่น่าทำอย่างยิ่งคือ โคโคบอร์ด (cocoboard) ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษารวมถึงงานโคโคอาร์ตก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่นำกาบมะพร้าวมารังสรรค์งานศิลปะเพื่อใช้สำหรับตกแต่งสถานที่
คุณนิ่มเล่าว่าในส่วนของ บริษัท ออลโคโค กรุ๊ปฯ ก็ดำเนินธุรกิจโรงงานอุตสาหกรรมอาหารเพื่อแปรรูปมะพร้าวน้ำหอมโดยวัตถุประสงค์ของการตั้งโรงงานนี้ก็เพื่อสามารถรับซื้อมะพร้าวจากสวนเกษตรกรได้ทุกสภาพและทุกฤดูกาล โดยเฉพาะยามพืชผลล้นตลาด บริษัทจะนำมะพร้าวน้ำหอมที่ไม่สามารถส่งออกได้ เช่น ลูกเล็ก ลูกช้ำ (มี 60% ของมะพร้าวทั้งหมด) มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ น้ำมะพร้าว 100%, พุดดิ้งไอศกรีม ฯลฯ โดยจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “ออลโคโค” ซึ่งในส่วนของที่นี้ก็มีกระบวนะการรักษ์โลกคือ การนำน้ำที่ใช้แล้วจากไลน์การผลิต ซึ่งเดิมทีก่อนทิ้งต้องสั่งซื้อสารเคมี (200,000บาท/ปี) มาทำวอเตอร์ทรีตเมนต์ก่อนเมื่อบำบัดเสร็จจึงปล่อยออกสู่ธรรมชาติได้ โดยปัจจุบันเรานำน้ำเหลือใช้นี้มาทำSpraydry ได้เป็นผงสีธรรมชาติ (naturaldye) สีแดงอิฐ ที่สวยงามใช้ย้อมผ้าได้ทำเป็นสีย้อมธรรมชาติจากเปลือกมะพร้าวน้ำหอม
“ตอนนี้ได้ร่วมมือกับกลุ่มทอมือผ้าไทยวนเสาไห้สระบุรีนำโดย “ครูเจี๊ยบ” (คุณสุพัตราชูชม) ครูช่างศิลป์ของแผ่นดินปี 2562 ผลิตเป็นผลงานออกมามากมาย อาทิ เสื้อยืด กระเป๋าผ้า กล่องใส่กระดาษทิชชู กระเป๋าย่าม เป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไปโดยสายคนรักษ์โลกมาอุดหนุนเป็นจำนวนมาก”
นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาช้อนไอศกรีมออลโคโคที่ผลิตจากใยมะพร้าวย่อยสลายได้เป็น biodegradable เป็นเทคโนโลยีของภาควิชาอุตสาหกรรมอาหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยตอนนี้นำมาทดแทนช้อนไอศกรีมพลาสติกรวมถึงกำลังพัฒนาน้ำยาฆ่าแมลง/ไล่แมลง ซึ่งได้ศึกษาทดลองประสิทธิภาพร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน โดยทดลองแจกจ่ายให้เกษตรกรได้ทดลองใช้และเก็บข้อมูลเพื่อเป็นการลดการใช้สารเคมีทำให้สุขภาพทั้งมนุษย์และธรรมชาติดีไปด้วยกัน
คุณนิ่มเล่าด้วยว่า เมื่อช่วงปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) และบริษัทสยามพิวรรธน์จำกัดได้จัดงานแสดงสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “DECODE DESIGNLIVING” และนิทรรศการ T-Mark ซึ่งออลโคโคได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในบริษัทที่ยกระดับศักยภาพของผลิตภัณฑ์สินค้าไทย
ท้ายสุดคุณนิ่มเล่าทิ้งท้ายว่า หากเรามุ่งมั่นที่ไม่อยากให้เป็นภาระแก่โลกและไม่อยากทิ้งอะไรให้เสียของสิ่งนี้ก็จะเป็นแรงกระตุ้นต่อมความคิดให้เราหาทางออกอาจเริ่มจากเรื่องเล็กๆที่ใกล้ตัวก่อนแล้วค่อยขยายผลให้ใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ปรึกษากับเทศบาลบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เพื่อร่วมกันจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านเพื่อพัฒนาผลิตผลิตภัณฑ์จากของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมมะพร้าว ถือเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้คนในชุมชน.