สำหรับคุณผู้ฟังที่ใส่ใจร่างกายและรักสุขภาพแบบยั่งยืน พร้อมที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข คงจะคุ้นเคยกับน้ำเสียงและลีลาการจัดรายการ “Wellness Talk” ของ “ผศ.อนุสรณ์ แน่นอุดร” อาจารย์จากคณะพยาบาลศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ที่ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 10.05 – 10.30 น. ทาง FM 89.5 MHz กันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว หากแต่ทั้งหมดทั้งมวลของเนื้อหารายการนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับสภาวะร่างกายที่เสื่อมถอย และเรียนรู้กับเรื่องราวทางการแพทย์ในแบบฉบับที่เข้าใจได้ง่าย ๆ โดยไม่ซับซ้อน
“เราโฟกัสให้ผู้ฟังทั่วไปเข้าใจได้ง่ายในเรื่องของสุขภาพ เพราะศัพท์ทางการแพทย์บางคำ มันอาจเฉพาะทางเกินไป ทำให้คนทั่วไปไม่เข้าใจ เราก็มาอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น ฟังแล้วสุขภาพ ก็จะดีขึ้น คือเราจะพูดคุยในเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพสำหรับคนที่ยังไม่ป่วย หรือกลุ่มผู้ป่วยก็จะให้คำแนะนำ แต่ทั้งหมดนี้จะเป็นการคัดกรองตัวเองว่าเราจะเสี่ยงเป็นโรคไหนได้บ้าง ส่วนใหญ่ที่พูดไป ก็คือโรคหลัก ๆ โรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อที่พบบ่อย เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือด รวมไปถึงโรค Top Hit ในบุคคลบางกลุ่ม เช่น ต่อมลูกหมากในวัยผู้ใหญ่ตอนปลาย โรคเฉพาะทางด้านนรีเวชของผู้หญิง ซึ่งบางทีก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ไปคุยกับใครไม่ได้ พอมาฟังรายการก็สามารถเอาเนื้อหารายการไปปรับใช้ กับตัวเองได้ก่อนจะไปตรวจร่างกายเพิ่มเติมกับคุณหมอที่โรงพยาบาล” อาจารย์อนุสรณ์ เล่าถึงบทบาทและที่มาของรายการตนเองที่มีต่อสังคมปัจจุบันด้วยน้ำเสียงลื่นไหล …
“ถ้ามองในเรื่องความแตกต่างของสื่อที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสุขภาพ ผมว่าเนื้อหาคงไม่แตกต่างกันมากนัก เพียงแต่ช่องทางในการรับฟังนี่แหละครับที่แตกต่างกัน สื่อหลักในสมัยนี้คือ YouTube ถ้าเป็นยุคก่อนสื่อหลักก็จะเป็นหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ แต่ในปัจจุบันรายการเอง และทางสถานีวิทยุกระจายเสียง มทร.ธัญบุรี ก็มีการปรับตัวพัฒนาเนื้อหาการสื่อสารที่เปลี่ยนไปด้วย เรามีช่องทางทั้งวิทยุ Facebook Tiktok และ YouTube การมาจัดรายการที่นี่ก็ถือเป็นช่องทางใหม่ช่องทางหนึ่ง ที่ทำให้อาจารย์แต่ละท่านได้มาถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ที่ทุกท่านมีความเชี่ยวชาญให้ประชาชนได้รับฟัง ช่องทางนี้ทำให้เราเข้าถึงประชาชนได้ตลอดเวลาโดยที่ไม่ต้องนัดหมาย ไม่ต้องลงพื้นที่ เป็นการเพิ่มโอกาสให้ทุกคนได้ความรู้” นี่คือข้อดีของการจัดรายการวิทยุผ่านสื่อออนไลน์ในยุคปัจจุบัน ซึ่งไม่ว่าคุณจะอยู่ไกลแค่ไหน เพียงแค่คุณมีสัญญาณอินเตอร์เน็ต สาระความรู้ในการดูแลตนเองก็จะเสิร์ฟให้คุณได้ทุกที่ ทุกสถานการณ์ …
“โรคของคนไทยในปัจจุบัน เทรนด์ที่มาแรงก็ยังคงเป็นโรคที่เป็นเรื่องเชิงพฤติกรรม การรับประทานอาหารไม่ดี การไม่ออกกำลังกาย พักผ่อนไม่พอ หรือ มีความเครียด ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของพันธุกรรมก็สามารถเป็นได้ รวมไปถึงวิถีชีวิต Life Style ของผู้คนก็เปลี่ยนไป คนสมัยก่อนตกเย็นกลับบ้านทำกับข้าวกินกันในครอบครัว ทำอาหารเองสามารถควบคุมเรื่องของโซเดียม ควบคุมน้ำตาล ควบคุมไขมันได้ แต่ปัจจุบันทำงานเลิกดึก ต้องซื้อข้าวถุงแกงถุงกิน ทำให้โรคเกี่ยวกับสุขภาพประเภทนี้กลายเป็นโรค Top Hit และมะเร็งยังคงเป็นโรคอันดับหนึ่งของสาเหตุการเสียชีวิต” อาจารย์ให้ความเห็นในเรื่องของต้นเหตุการเกิดโรค Top Hit ของประชากรชาวไทยยุคปัจจุบันได้อย่างมีนัยสำคัญและน่าสนใจชนิดที่ว่าไม่ได้แพ้เนื้อหาในรายการเลยแม้แต่น้อย!
เมื่อขอความเห็น ในมุมมองที่เกี่ยวกับแนวโน้มสุขภาพคนไทยในอนาคต อาจารย์ตอบกลับมาด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ ว่า “ผมคิดว่าสุขภาพของคนไทยบางครั้งก็ขึ้นอยู่กับนโยบายการเมืองในยุคนั้น ๆ แต่ถ้าดูจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อเอามาเทียบกับภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยถือว่าเป็นหนึ่งประเทศที่มีระบบการบริการสุขภาพให้ประชาชนเข้าถึงได้มากพอสมควร แม้ว่าจะยังไม่ครอบคลุม เพราะยังมีประชาชนบางส่วนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ บุคคลบางกลุ่ม เช่นผู้พิการ ผู้สูงอายุที่อยู่ห่างไกล ก็อาจจะยังเข้าถึงระบบบริการสุขภาพไม่เท่าเทียมคนที่อยู่ในหัวเมืองใหญ่ รวมไปถึงระบบทางการแพทย์ด้วย โรงพยาบาลที่มีบริการระดับตติยภูมิ (Tertiary Care / บริการสุขภาพเฉพาะทางที่มีอุปกรณ์และเทคโนโลยีครบถ้วน) ส่วนมาจะอยู่ในหัวเมืองใหญ่ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข ก็พยายามพัฒนาให้เกิดรอยต่อเกี่ยวกับเรื่องนี้น้อยที่สุด” และทั้งหมดนี่คือสาระดี ๆ จากรายการ “Wellness Talk” ครับ…
เรื่อง – ภาพ ชวลิต อรุณทัต
เผยแพร่ข่าว โดย : งานพัฒนาเว็บไซต์และเผยแพร่ข้อมูล สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มทร.ธัญบุรี