คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2562
นพมาศ บุญสงคราม มรภ.จันทรเกษม
qualitylife4444@gmail.com
ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกพยายามศึกษาค้นหาพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้นำมาใช้ประโยชน์ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายลดปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม รัฐบาลไทยก็ได้กำหนดวาระแห่งชาติสนับสนุนให้ใช้พลังงานทดแทนต่างๆ ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนรวมทั้งลดการพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศ
โดยปี 2559 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หน่วยงานสนับสนุนทุนเพื่อการวิจัยและนวัตกรรม จึงให้งบประมาณ 2 ล้านบาทสนับสนุนศูนย์วิจัยและบริการด้านพลังงาน มทร.ธัญบุรี ดำเนินโครงการพัฒนาระบบการผลิตไฟฟ้าเป็นโซลาร์เซลล์ชนิดทุ่นลอยน้ำ 5kw มาผสมผสานการผลิตไฟฟ้าร่วมกับกังหันลมความเร็วลมต่ำขนาด 10kw เพื่อนำไฟฟ้าไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนในด้านแสงสว่างในการออกกิจกรรมและเล่นกีฬาเพื่อประชาชนมีสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าแก่องค์การบริหารส่วนตำบลจังหวัดชัยภูมิ (อบจ.) ดำเนินการที่สนามกีฬาจังหวัดชัยภูมิขนาด 15 กิโลวัตต์ ภายใต้แผนงานวิจัยสนองนโยบาย รัฐบาลกลุ่มเรื่องพลังงานทดแทน (โครงการท้าทายไทย) โดยได้จัดโครงการสื่อมวลชนสัญจร เมื่อวันที่ 13-14 มิถุนายน
ผศ.ดร.วิรชัย โรยนรินทร์ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและบริการด้านพลังงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (ธัญบุรี) กล่าวว่า การผลิตกังหันลมในสนามกีฬากลางจังหวัดชัยภูมิ ขนาด 15 กิโลวัตต์ เป็นการติดตั้ง กังหันลมและแผงโซลาร์เซลล์ชนิดทุ่นลอยน้ำ เป็นพื้นที่ต้นแบบชุมชนสีเขียวในการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมประหยัดพลังงานหันมาส่งเสริมการใช้พลังงานจากธรรมชาติมากขึ้น ทำให้ลดปัญหามลพิษทางอากาศและก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการเกิดภาวะโลกร้อน
สามารถเพิ่มเวลาออกกำลังกายให้ประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้นโดยจะปิดไฟตั้งแต่ช่วงเวลาสามทุ่มเป็นต้นไป
ก่อนนี้ได้ติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาด 100KW ที่ จ.ชลบุรี โครงการต้นแบบการบำบัดน้ำเพื่อเพิ่มคุณภาพน้ำสวนสาธารณะหนองปลาเฒ่าแบบยั่งยืน อ.เมือง จ.ชัยภูมิ โครงการไร่ชั่งหัวมันตาม พระราชดำริ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี โครงการท่าเรือ สีเขียว ท่าเรือแหลมฉบัง การท่าเรือแห่งประเทศไทย ระบบผลิตไฟฟ้ากังหันลมความเร็วต่ำขนาด 10 วัตต์ 84 ชุด รวมเป็น 1MW 2554 และโครงการกังหันลมดอยม่อนล้านสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมสาน 100 KW กังหันลมความเร็วต่ำ ขนาด 5 วัตต์ 10 ชุดกับโซลาร์เซลล์ ขนาด 50 กิโลวัตต์ และเครื่องยนต์ดีเซล เป็นต้น
ศ.ดร.ทนงเกียรติ เกียรติศิริโรจน์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า โครงการพัฒนาพลังงานทดแทนและการประยุกต์ใช้ในชุมชนสีเขียว เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมทั้งในระดับชาติและสากลในการสร้างเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทน ซึ่งการเลือกขนาดในการผลิตถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ กังหันลมจะเน้นสวย สีสัน มีงานศิลปะผสมเข้าไป โดยเน้นเพื่อชุมชน ส่งเสริม ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเกิดการพัฒนากังหันลมขึ้นภายในประเทศเพื่อความเหมาะสมในการใช้งาน
โครงการต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบผสมผสานแห่งนี้สามารถช่วยประหยัดไฟฟ้าให้พื้นที่ไม่น้อยกว่าวันละประมาณ 100 หน่วยไฟฟ้าต่อวัน คิดเป็น มูลค่าการลดค่าใช้จ่ายกระแสไฟฟ้าปีละประมาณ 200,000 บาท ซึ่งการคิดค้น แผงโซลาร์เซลล์ชนิดทุ่นลอยน้ำถือเป็นนวัตกรรมใหม่ช่วยลดมลพิษจากสิ่งแวดล้อมและคาดว่าในอนาคตจะขยาย “ต้นแบบชุมชนสีเขียว” ไปยังชุมชนอื่นๆ อีกด้วย
อย่างไรก็ตามโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในเวลากลางคืนและไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เมื่อไม่มีลมพัด แต่ถ้านำเทคโนโลยีพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ร่วมกันก็จะทำให้เกิดความเสถียรภาพมากขึ้น