นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 24 ม.ค. 2567
กลิ่นหอมนอกจากช่วยสร้างบรรยากาศให้ผ่อนคลายกลิ่นหอมจากดอกไม้ ผลไม้ เปลือกไม้ เครื่องเทศสมุนไพร ฯลฯ ที่เป็นเอกลักษณ์ยังให้ความสดชื่นผสานร่างกายและจิตใจ ปรับสร้างสมดุล
“สุคนธบำบัด” การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมเพื่อการผ่อนคลาย ศาสตร์ดังกล่าวได้รับการกล่าวถึงมายาวนาน โดยการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เป็นธรรมชาติมาประยุกต์ดูแลสุขภาพกายใจ ทั้งนี้นำเรื่องน่ารู้กลิ่นหอมจากธรรมชาติ กลิ่นที่ช่วยการพักผ่อน ช่วยคลายเครียด แก้ปวดเมื่อย ทั้งเพิ่มภูมิคุ้มกันโดย ผศ.ดร.พทป.ปุณยนุช อมรดลใจ คณะการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีให้ความรู้ว่า สุคนธบำบัด มีความสัมพันธ์ระหว่างกลิ่นและน้ำมันหอมระเหย ทั้งนี้เมื่อสูดดมกลิ่นจะได้ประโยชน์ในลักษณะองค์รวม
“ทางด้านร่างกายกล้ามเนื้อจะผ่อนคลาย ขณะเดียวกันในด้านจิตใจ เมื่อได้รับกลิ่น ได้เลือกกลิ่นที่เฉพาะเจาะจง จิตใจจะสบาย ภาพของการบำบัดด้วยกลิ่นจึงเป็นองค์รวมส่งผลต่อร่างกาย และจิตใจ สุคนธบำบัดเมื่อแปลในความหมายของภาษาอังกฤษจะได้ความหมายที่ค่อนข้างชัดเจน โดยคำว่า Aroma บวกกับคำว่า therapy จะได้ความหมายว่ากลิ่นหอมที่ใช้กับการบำบัด และเมื่อนำไปบำบัดจะทราบโดยเฉพาะว่าเป็นน้ำมันหอมระเหยที่มาจากพืชธรรมชาติ”
ผศ.ดร.พทป.ปุณยนุช อธิบายอีกว่า รอบตัวเรามีพืชสมุนไพร ดอกไม้ให้กลิ่นหอมอยู่ไม่น้อย สามารถนำมาฟื้นฟูดูแลกายใจได้เป็นอย่างดี อย่างเช่น กระดังงาหรือการะเวก ไม้หอมที่มักปลูกไว้หน้าบ้าน ช่วงเวลากลางคืนจะส่งกลิ่นหอมซึ่งจะช่วยลดคลายความเครียด ช่วยให้นอนหลับสบาย ขณะที่ กุหลาบ มะลิ ก็มีคุณสมบัติโดดเด่น โดยกลิ่นหอมของมะลิเมื่อนำไปวิเคราะห์พบว่าช่วยให้คุณภาพการนอนดีขึ้น
“ปัจจุบันมีการผสมกลิ่นให้เหมาะสมกับกลุ่มอาการที่ต้องการ หรือเมื่อสูดดมแล้วมีความพอเหมาะ พอดี โดยที่ผ่านมาเราศึกษาวิจัยน้ำมันหอมระเหยสำหรับผู้สูงอายุที่นอนไม่หลับ ใช้กลิ่นตามความเข้มข้นในสัดส่วนที่พอเหมาะซึ่งมีกลิ่นของกระดังงา กลิ่นส้มนำมาบูรณาการกับกลิ่นลาเวนเดอร์ ได้เป็นกลิ่นสดชื่น ให้ความผ่อนคลาย การรู้ถึงคุณสมบัติ การเลือกนำมาใช้อย่างเหมาะสม ถูกต้อง มีความสำคัญ ทั้งนี้กลิ่นแต่ละกลิ่นมีผลต่อร่างกายมีคุณสมบัติที่ต่างกัน”
นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์ใช้ นำกลิ่นหอมธรรมชาติในผลิตภัณฑ์ นำมาใช้เพื่อลดอาการปวดคลายกล้ามเนื้อ อย่างเช่น ไพล ซึ่งมีสรรพคุณช่วยคลายกล้ามเนื้อ ทั้งนี้การสกัดกลิ่นนำมาใช้อย่างง่าย ๆ อย่างเช่น มะลิ นำไปลอยน้ำหรือแช่ในน้ำสะอาด ทิ้งไว้สักพักจะได้กลิ่นหอม ชื่นใจ ขณะที่ ตะไคร้ ใช้ได้หลายส่วน โดยเฉพาะส่วนใบที่มักถูกทิ้ง ให้กลิ่นหอมหายใจสะดวกโล่ง อีกทั้งถ้านำมาผสม กับกานพลู ยูคาลิปตัสอย่างละนิดหน่อยจะช่วยแก้อาการหวัดคัดจมูก และนอกจากทำเป็นยาดม หากนำน้ำมันหอมระเหยหยดลงในน้ำอุ่น กลิ่นหอมที่ระเหยขึ้นมาเมื่อสูดดมจะช่วยทั้งระบบทาง เดินหายใจ
มะกรูด มะนาว พืชในกลุ่มส้ม ก็เช่นกัน นอกจากให้กลิ่นหอมที่โดดเด่นยังให้ความสดชื่น ผ่อนคลาย ช่วยให้หายใจคล่องสะดวกขึ้น ขณะที่กลิ่นของ ไม้จันทน์เทศ มีความละมุน อ่อนหวาน ฯลฯ เป็นส่วนหนึ่งจากการนำประโยชน์จากสิ่งที่เป็นธรรมชาตินำมาประยุกต์ใช้ กลิ่นที่มีเอกลักษณ์ มีคุณสมบัติช่วยผ่อนคลายเครียด ปรับสร้างสมดุล.