ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2562
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐ แก้วสกุล ผู้อำนวยการกองพัฒนานักศึกษา อาจารย์ประจำหลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหการ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า จิตอาสาราชมงคลธัญบุรี สร้างศูนย์ส่งเสริมอาชีพวัดไก่เตี้ย วิชชาลัยชุมชนแสงตะวัน ตำบลกระแชง อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี โดยนักศึกษาที่ลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้แก่ นักศึกษาหลักสูตรอุตสาหการ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ในรายวิชาความรับผิดชอบของครูช่างต่อสังคม (วิชาเลือกเสรี) และวิศวกรรมงานเชื่อม (วิชาบังคับ) ซึ่งนักศึกษาต้องลงปฏิบัติ โดยการ บูรณาการร่วมกับชุมชน เพื่อให้นักศึกษาลงปฏิบัติงานจริงและเป็นห้องใช้สำหรับฝึกอาชีพให้ชุมชน
ผศ.ณัฐกล่าวว่า มทร.ธัญบุรีได้รับการสนับสนุนงบประมาณด้านวัสดุการฝึกนักศึกษาจากธนาคารทหารไทย นอกจากนี้มีนักศึกษาจิตอาสาสมัครมาช่วยรวมทั้งหมดกว่า 60 คน โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนรุ่นละ 20 คน ใช้เวลาในการสร้าง 1 อาทิตย์ ลักษณะเป็นงานเชื่อมโครงสร้างเหล็ก งานประกอบ และงานสถาปัตยกรรม ศูนย์ดังกล่าวใช้สำหรับการเก็บกี่ทอผ้าโบราณสำหรับใช้ในการทำงานของกลุ่มแม่บ้าน และใช้ในการฝึกอบรมอาชีพของกลุ่มแม่บ้าน ทำให้การเรียนการสอนเป็นสัดส่วนในพื้นที่จำกัด
นายอิสรา คล่ำคง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาครุศาสตร์อุตสาหการ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.ธัญบุรี เล่าว่า ตั้งแต่เข้ามาเรียนที่นี่ ลงพื้นที่ทำงานลักษณะนี้บ่อย เนื่องด้วยเป็นนักศึกษาชมรมค่ายอาสาพัฒนา
เฉลิมพระเกียรติของมหาวิทยาลัย ค่ายที่จังหวัดเลย นำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ งานเชื่อม ขึ้นโครงอาคารเรียนครั้งนี้เป็นอีกประสบการณ์ที่ดี ได้สร้างศูนย์ที่ใช้สำหรับการเรียนให้กับกลุ่มแม่บ้าน ตอนทำมันเหนื่อย แต่เมื่อได้เห็นผลงานที่ทำเสร็จ รู้สึกดีและหายเหนื่อย
นายสมอริยะ ไชยวงค์ นักศึกษาชั้นปี ที่ 3 สาขาครุศาสตร์อุตสาหการ คณะครุศาสตร์ อุตสาหกรรม เล่าว่า ในฐานะที่เป็นประธานฝ่ายพัฒนาสังคมบำเพ็ญประโยชน์ สโมสรคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มาช่วยงานและคอยสอนน้องๆ ในการใช้อุปกรณ์ ซึ่งถ้ามีเวลาว่างทางฝ่ายพัฒนาสังคมบำเพ็ญประโยชน์ จะลงพื้นที่บำเพ็ญประโยชน์ที่คณะเสมอ ทำความสะอาดบริเวณคณะ จิตอาสาครั้งนี้เป็นอีกกิจกรรมที่ได้ช่วยชาวบ้าน คุณป้าคุณยาย มีศูนย์ฝึกอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน และได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
นางสาวสุชาดา ไชยจำ นักศึกษาชั้นปี ที่ 2 สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เล่าว่า เป็นครั้งแรกที่ได้ทำกิจกรรมแบบนี้ ได้ทำประโยชน์เพื่อชาวบ้าน หน้าที่คือทาสี ช่วยเพื่อนส่งอุปกรณ์ ได้เรียนรู้งานเทคนิคการเชื่อมจากอาจารย์ ฝึกการทำงานเป็นทีม ถ้ามีกิจกรรมอย่างนี้จะเข้าร่วมโครงการอีกแน่นอน
“การปฏิบัติงานนักศึกษาได้รู้ถึงกระบวนการในการทำงาน การวางแผน การจัดลำดับขั้นตอนในการทำงานได้จริง และการทำงานเป็นทีม ถ้าวิชาที่ฝึกปฏิบัติในมหาวิทยาลัย โอกาสในการทำงาน ลงมือทำที่เป็นรูปธรรม และได้ทำเพื่อชุมชน ซึ่งโอกาสแบบนี้ไม่ค่อยมี ส่วนใหญ่ลงมือปฏิบัติส่งงานอาจารย์แล้วได้คะแนน” ผศ.ณัฐ แก้วสกุล กล่าวทิ้งท้าย.