กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 09 เมษายน พ.ศ. 2562
กรุงเทพธุรกิจ * อธิการบดีมทร.ธัญบุรี ระบุคนที่ไม่ได้เรียนครุศาสตร์ เป็นครูช่าง โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูนั้น ไม่ถูกต้อง ชี้ครูผู้สอนควรผ่านการปลูกฝัง วิชาชีพครู กระบวนการสอน การถ่ายทอด จิตวิทยาจบออกมาสอนนักศึกษาได้จริง พร้อมแนะแนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนครู ฝากให้นักศึกษาที่เรียนสายครุศาสตร์ จบได้รับตั๋วครูแบบอัตโนมัติ
นายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการ คุรุสภาได้มีมติเห็นชอบให้คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) ไปจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับการเตรียมประกาศเรื่องการแก้ไขหลักเกณฑ์ใบอนุญาต ประกอบวิชาชีพครูอาชีวศึกษาสำหรับครูช่างที่สำเร็จการศึกษาสาขาอื่น และมีความรู้ มีทักษะด้านวิชาชีพ ช่างต่างๆ ให้มาเป็นครูได้โดยที่ไม่ต้องมี ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูนั้นหากมองเรื่องนี้ให้ลึกซึ้งว่าทำไมคนเป็นครูจะต้อง เรียนครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์ เพราะ การเรียนการสอนในสายนี้ กว่าจะออกมา เป็นครูได้นั้นจะต้องเรียนวิชาชีพครู กระบวนการเรียนการสอน การถ่ายทอด จิตวิทยา รวม 22 หน่วยกิต ฝึกสอนอีก 12 หน่วยกิต เพื่อเป็นการหาประสบการณ์ และปรับทฤษฎีทีได้เรียนรู้ แล้วจึงเข้าสู่ อาชีพครู ถือเป็นพื้นฐานที่จะสร้างบุคลากรครู จบออกมาแล้วสามารถสอนนักเรียนได้จริง ดังนั้น การให้ผู้ที่เรียนจบสาขาอื่นที่ไม่ใช่ ครุศาสตร์อุตสาหกรรมแล้วสามารถเข้ามาเป็นครูช่างได้จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ผ่านการเรียนรู้วิชาชีพของความเป็นครูและการฝึกสอนมาก่อน การจะถ่ายทอดองค์ความรู้อาจจะไม่สามารถทำได้เท่ากับคนที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้เรื่องเหล่านี้มา
อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาขาดแคลนครูช่างด้วยแนวทางดังกล่าว เห็นว่าเป็นการมองปัญหาแค่เพียงด้านเดียว การเป็นครูช่างไม่ใช่แค่ทำงานเป็น หรือสอนในวิชาทฤษฎีและจะเป็นครูได้ แต่การเป็นครูจะต้องเป็นตั้งแต่การ ปลุกจิตวิญญาณ การสร้างและถ่ายทอดประสบการณ์ออกไป เพราะฉะนั้นถ้ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายออกมา เช่นนี้จริง ในปีการศึกษาต่อไปอาจจะมีหลายมหาวิทยาลัยที่ไม่เปิดสอนหลักสูตร ครุศาสตร์ หรือครุศาสตร์อุตสาหกรรม เพราะไม่มีนักศึกษามาเรียน โดยเฉพาะ กลุ่มราชมงคล ซึ่งผลิตครูช่างเป็นส่วนใหญ่ เพราะเปิดสอนแล้วก็คงไม่มีใครมาเรียน เพราะไปเรียนสาขาวิชาอื่นๆ ก็สามารถ มาเป็นครูช่างได้ และอาจส่งผลให้ประเทศขาดครูช่างตามมาในที่สุด
“ผมอยากให้มีการทบทวนเรื่องนี้ เพราะผมเชื่อว่าทุกคนสามารถเป็นช่างได้ แต่เป็นครูทุกคนไม่ได้คนที่อยากเป็นครูต้องถูกบ่มเพาะใช้วิชาความรู้ช่างและ ความรู้ครูรวมกัน จึงจะถ่ายทอดองค์ความรู้ ได้อย่างกระจ่างชัดได้ อย่างไรก็ตามส่วนตัวแล้วอยากให้นักศึกษาที่เรียนสายครุศาสตร์จบแล้ว น่าจะได้รับตั๋วครูแบบอัตโนมัติเลย ส่วนการปรับหลักสูตร 5 ปี เหลือ 4 ปี เชื่อว่ามหาวิทยาลัยพร้อม ที่ปรับลดหลักสูตรได้ เช่น อาจร่น ระยะเวลาการฝึกสอนจาก 1 ปี เหลือ 1 เทอมแทน” นายประเสริฐ กล่าว
ทั้งนี้สำหรับการแก้ปัญหาการขาดแคลนครูช่างนั้น ทาง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้มีการเสนอขออนุญาตบรรจุ สำหรับประเภทวิชาและสาขาวิชาขาดแคลน ที่ โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ 98 สาขาวิชา อาทิ ช่างเทคนิคระบบ ขนส่งทางราง เทคนิคควบคุมและซ่อมบำรุงระบบขนส่งทางราง ซอฟต์แวร์ ระบบสมองกลฝังตัวคอมพิวเตอร์ เกมและแอนิเมชั่น เทคนิคแว่นตาและเลนส์ เป็นต้น