ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562
นายวิรัช โหตระไวศยะ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า การเรียนการสอนโดยใช้ห้องเรียนชุมชนเป็นแหล่งในการค้นคว้าเรียนรู้ทำให้สามารถมองเห็นสภาพชุมชนที่แท้จริง ปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ และความต้องการของชุมชนมาเป็นโจทย์ให้นักศึกษาพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน นอกจากนี้นักศึกษายังได้บูรณาการเชื่อมโยงองค์ความรู้ต่างๆ ได้รู้จักการทำงานเป็นทีม ความมีน้ำใจ ความเอื้ออาทรต่อสังคม เพราะฉะนั้น มทร.ธัญบุรีจึงได้สร้างรายวิชาใหม่ขึ้นมา คือ วิชานวัตกรรมเพื่อชุมชน เข้าห้องเรียนเพียง 20% และอีก 80% ลงพื้นที่ชุมชน โดยเปิดทำการเรียนการสอนปีการศึกษา 2562 เป็นปีแรก
ผศ.สุมานิการ์ จันทร์บรรเจิด อาจารย์ มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า นวัตกรรมที่สร้างขึ้นโดยใช้กระบวนการความคิดคือ นักศึกษาต้องเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน นักศึกษาได้เรียนรู้จากการลงมือทำ ถูกฝึกฝนในการค้นคว้าหาข้อมูล เช่น การสัมภาษณ์ การสังเกต และการวิเคราะห์ข้อมูลในรูปของแผนที่ ปฏิทินชุมชน โครงสร้างองค์กรชุมชน และประวัติศาสตร์ชุมชน เป็นต้น โดยผ่านกลไกการทำงานเป็นทีม นำข้อมูลมาบูรณาการด้วยการวิเคราะห์และสังเคราะห์ ศึกษาความต้องการที่แท้จริงของชุมชนกับทรัพยากรที่มีอยู่จนกลายเป็น “โมเดลต้นแบบของนวัตกรรม” ปัจจัยความสำเร็จของการเรียนวิชานี้ไม่ได้ดูที่ผลคะแนน หรือความพึงพอใจของตัวผู้เรียน แต่ดูที่ชุมชนพึงพอใจแล้วนำไปต่อยอดได้นั้นคือความสำเร็จ
น.ส.หทัยนุช วงษ์ขำ นักศึกษาชั้นปี ที่ 4 สาขาการผลิตพืช ตัวแทนกลุ่ม “ปุ๋ยอัดเม็ดจากฟางข้าว” เล่าว่า ได้ลงพื้นที่ชุมชนบ้านแสนสุขสกัดห้า หมู่ 5 ตำบลบึงกาสาม อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งภายหลังจากทำนาจะเผาฟางข้าว สร้างมลพิษทำให้โลกร้อน จากการศึกษาพบว่า ฟางข้าวเป็นหัวเชื้อปุ๋ยชั้นดี เพราะฟากข้าว 1 ส่วนเท่ากับมูลวัว 10 ส่วน ทางกลุ่มจึงได้คิดค้นสูตรปุ๋ยอัดเม็ดจากฟางข้าวขึ้นมา สามารถนำมาใช้กับพืชผลทางการเกษตร ลดต้นทุนในการซื้อปุ๋ย ขั้นตอนในการทำปุ๋ยคือ นำฟางข้าวและมูลสัตว์มาวางสลับชั้นกัน ความหนาประมาณ 10 เซนติเมตร จากนั้นรดน้ำที่ผสมจุลินทรีย์ช่วยการย่อย รดทุกวัน หากพื้นที่ชื้นสามารถรดน้ำอาทิตย์ละครั้ง แล้วปิดคลุมด้วยพลาสติกทึบ เมื่อปุ๋ยย่อยสลายจนละเอียดนำไปตากแดดฆ่าเชื้อ 1-2 วัน นำมาขึ้นรูปอัดเม็ดและบรรจุภัณฑ์เพื่อความสะดวกในการใช้งาน เก็บรักษาได้ง่าย ต่อยอดนำปุ๋ยอัดเม็ดจากฟางข้าวไปจัดจำหน่ายสร้างได้ให้กับคนในชุมชนต่อไป
น.ส.อติวัณณ์ สุดใจดี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการผลิตพืช ตัวแทนกลุ่ม “กับดักแมลงวันทองชีวภาพ” โดยการใช้สารสกัดจากใบกะเพรา เล่าว่า จากการเก็บข้อมูลในการลงพื้นที่ ชาวบ้านบอกว่าแมลงวันทองเป็นศัตรูตัวสำคัญในสวนกล้วยและไม้ผล เข้าไปวางไข่ทำลายเนื้อในของพืชผล จึงการหาข้อมูลการกำจัดแมลงวันทอง ส่วนใหญ่ใช้การวางกับดักล่อ ซึ่งจากการสำรวจ “กะเพรา” เป็นวัตถุดิบในพื้นที่มีจำนวนมาก ซึ่งกะเพรามีกลิ่นเฉพาะตัว สามารถนำมาใช้ล่อแมลงวันทอง ที่สำคัญเป็นวัตถุดิบในชุมชน จึงนำใบกะเพรามาสกัด โดยหมักกับแอลกอฮอล์ทิ้งไว้ 7 วัน ส่วนกับดักใช้ขวดพลาสติกเจาะรูข้างขวดเป็นรูปสามเหลี่ยม ไม่ต้องใหญ่มาก ใช้ลวดเจาะรูบนฝาขวด สอดลวดเข้าไปในรูแล้วขดลวดบริเวณใต้ฝาและบนฝา เพื่อยึดไม่ให้ลวดขยับ นำสำลีที่ชุบสารสกัดกะเพรามาเกี่ยวลวด จากนั้นนำไปแขวนตามจุดที่ต้องการดักแมลงวันทอง
นายกิตติชัย พุ่มไม้ นักศึกษาชั้นปี ที่ 4 สาขาวิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตัวแทนกลุ่มกระดาษจากต้นตะไคร้ เล่าว่า ชุมชนดังกล่าวมีการปลูกตะไคร้จำนวนมากและมีราคาถูก จึงมีแนวคิดเพิ่มมูลค่าให้กับตะไคร้ ในกลุ่มจึงศึกษาและปรึกษาอาจารย์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากตะไคร้ โดยการนำตะไคร้ทั้งส่วนของลำต้นและใบมาทำเป็นกระดาษ โดยกระบวนการในการทำไม่ยุ่งยาก ชาวบ้านในชุมชนสามารถทำได้ ลักษณะของกระดาษตะไคร้มีกลิ่นเฉพาะตัว สามารถนำมาต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์งานประดิษฐ์ เช่น โคมไฟ ในรูปแบบใหม่ที่ทันสมัยและสามารถนำไปใช้งานได้จริง สร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าในวัตถุดิบในชุมชน เป็นผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ของชุมชน.