มติชน ฉบับวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2562
9 มทร.ยังเน้นผลิตบัณฑิตตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ-อุตสาหกรรม ขณะที่’มศว’ปรับหลักสูตรเน้นความต้องการเด็ก
จากกรณีที่ขณะนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งเปิดสอนหลักสูตรแปลกๆ เพื่อดึงดูดความสนใจให้คนเข้ามาเรียน โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดสอนวิชาโหราศาสตร์เป็นวิชาศึกษาทั่วไป หรือวิชาเลือก ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อให้นักศึกษาได้เลือกเรียนในสิ่งที่สนใจและแปลกใหม่ ขณะที่ นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระบุว่า ปัจจุบันมีหลักสูตรใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก และอนาคตการเรียนในระบบจะลดลง คนเรียนผ่านออนไลน์ด้วยตนเองมากขึ้น มหาวิทยาลัยจะต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ส่วนหลักสูตรที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ เช่นหลักสูตรแปลกใหม่ต่างๆ จะมาแบบลมพัดลมเพ ใครเปิดก็มีความเสี่ยงเพราะสุดท้ายเด็กจะเรียนน้อยลงและต้องปิดตัวไปนั้น
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 5 มกราคม นายรักไทย บูรพ์ภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิศวกรรมนานาชาติ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มศว เปิดหลักสูตรวิศวกรรมคอนเสิร์ตและมัลติมีเดีย (หลักสูตรนานาชาติ) ซึ่งมีป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม ผู้จัดคอนเสิร์ตชื่อดัง อาทิ คอนเสิร์ตบิ๊ก เมาน์เทน มิวสิก เฟสติวัล เป็นที่ปรึกษา โดยเปิดรับนักศึกษาเข้าเรียนตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 การเรียนปีที่ 1-2 จะเรียนภาคทฤษฎีที่ มศว ส่วนปี 3-4 เรียนที่มหาวิทยาลัยเดอ มอนต์ ฟอร์ต ประเทศอังกฤษ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในช่วงเรียนที่ประเทศไทย 2 ปีแรกอยู่ที่ 78,000 บาทต่อภาคเรียน แต่เมื่อไปเรียนที่ประเทศอังกฤษยอมรับว่าค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นเป็นปีละประมาณ 1 ล้านบาท อย่างไรก็ตามการเปิดหลักสูตรดังกล่าว เพราะเห็นว่าทุกวันนี้เราขาดบุคลากรด้านการจัดงานคอนเสิร์ตที่เชี่ยวชาญด้านการประสานงานควบคุมเวที มีความรู้ด้านโครงสร้างและการอพยพคนกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน ทั้งนี้ การเรียนเรื่องดังกล่าว เป็นการผสมผสานระหว่างวิศวกรรมไฟฟ้ากับวิศวกรรมเครื่องกล เด็กไม่ได้เรียนรู้เฉพาะเรื่องเวทีคอนเสิร์ตเท่านั้น แต่ยังจะได้เรียนรู้การทำเครื่องดนตรี วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้อย่างแท้จริง
“เราเริ่มรับเด็กเข้าเรียนในสาขานี้ไปแล้วตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 ซึ่งยอมรับว่ายังมีคนเข้าเรียนน้อย เพราะยังไม่มีการประชาสัมพันธ์มากนัก แต่ในการรับสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาหรือระบบทีแคส ปีการศึกษา 2562 รอบแรก พิจารณาจากแฟ้มสะสมงาน สมัครไปเมื่อเดือนธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา พบว่ามีเด็กสนใจมากขึ้น อาจเพราะบอกปากต่อปากและมีการประชาสัมพันธ์มากขึ้น โดยขณะนี้เด็กที่เรียนในรุ่นแรกได้เริ่มฝึกทดลองงานในคอนเสิร์ตบ้างแล้ว เหตุที่ให้ทดลองงานเร็วเพราะเขาจะมีเวลาอยู่ที่ประเทศไทยเพียง 2 ปี ส่วนอีก 2 ปีที่เหลือจะไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเด็กจะได้ไปฝึกงานกับบรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ หรือบีบีซี ประเทศอังกฤษ ทั้งนี้ ผมเชื่อว่าอนาคตหลักสูตรการเรียนการสอนจะต้องปรับให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียน ดันนั้นต่อไปจะพบว่ามีหลักสูตรแปลกๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ เพราะเทคโนโลยีกว้างขึ้น เด็กสามารถเรียนบางอย่างได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นการศึกษาจึงต้องปรับตัวให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียน” นายรักไทยกล่าว
ด้าน นายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เลขานุการที่ประชุมอธิการบดี มทร.กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่ามหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรแปลกใหม่เพื่อต้องการดึงดูดเด็กเข้ามาเรียน หรือบางหลักสูตรเป็นการเปลี่ยนแค่ชื่อให้น่าสนใจสุดท้ายแล้วผู้เรียนต้องพิจารณาให้ดีว่า เมื่อเรียนจบแล้วจะได้อะไร
อย่างไรก็ตามในส่วนของ มทร.ทั้ง 9 แห่ง จะทำการวิเคราะห์และยังคงเน้นเปิดสอนหลักสูตรที่ตอบโจทย์กับความต้องการของประเทศและภาคอุตสาหกรรม ผลิตบัณฑิตนักเทคโนโลยีซึ่งเป็นความต้องการของโลกอนาคต รวมถึงจะเน้นหลักสูตรระยะสั้นเพื่อพัฒนาคนในภาคอุตสาหกรรมให้มีความสามารถที่สอดคล้องกับการทำงานในสภาวะปัจจุบัน สำหรับหลักสูตรที่คิดว่าจะตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นหลักสูตรปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งจะเข้ามาแทนที่แรงงานคน วิศวกรรมพัสดุ การแปรรูปอาหารเพื่อสุขภาพ หลักสูตรโลจิสติกส์ การขนส่งต่างๆ ทั้งทางล้อ ราง เรือ เป็นต้น