นักวิจัยไทย คิดค้นและประดิษฐ์เครื่องปรับอากาศด้วยลมเย็นประหยัดพลังงาน ลดค่าไฟได้ถึง 70% แถมใช้วัสดุภายในประเทศ การันตีด้วยสองรางวัลระดับนานาชาติ
รองศาสตราจารย์ ดร.บุญยัง ปลั่งกลาง นักวิจัยวิศวะ มทร.ธัญบุรี ร่วมกับภาคเอกชนนายยุทธพงษ์ ศรีวิชัยมูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไททัม จำกัด และบริษัท ไททัม อินดัสเทรียล จำกัด ร่วมกันพัฒนา “เครื่องกำเนิดลมเย็น” ที่สามารถสร้างลมได้เสมือนกับเครื่องปรับอากาศ นอกจากประหยัดไฟแล้ว ค่าติดตั้งและซ่อมบำรุงถูกกว่า เมื่อเทียบกับเครื่องปรับอากาศทั่วไป พร้อมติดระบบกรองฝุ่น ป้องกันความชื้นและสร้างโอโซนอัตโนมัติ ปลอดภัยกับผู้ใช้งาน
รองศาสตราจารย์ ดร.บุญยัง หัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยว่า เครื่องปรับอากาศหรือแอร์คอนดิชันเนอร์ที่ใช้ในปัจจุบันแม้ให้ความเย็นฉ่ำและปรับอุณหภูมิได้ตามต้องการ แต่ก็สิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้ามากและมีค่าไฟฟ้ามหาศาล หากใช้กับห้องที่มีพื้นที่กว้าง และโดมที่สูง ตนและนายยุทธพงษ์ จึงร่วมกันพัฒนาเครื่องกำเนิดลมเย็นที่สามารถสร้างลมได้เสมือนกับเครื่องปรับอากาศ
จากการสืบค้นข้อมูล พบว่าระบบดังกล่าวได้เริ่มใช้เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว โดยนำข้อดีของระบบทำความเย็นหลายชนิดในปัจจุบัน มารวมกันเป็น Hybrid Innovation Technology เพื่อแก้ปัญหา เช่นการใช้ระบบอีแวบ ในโรงเรือนเพาะต้นกล้า ประเทศอิสราเอล ที่พัฒนามาสู่ระบบฟาร์มไก่และเริ่มใช้กับมนุษย์มากยิ่งขึ้นดังปัจจุบัน เช่น ร้านวัสดุก่อสร้างอย่างดูโฮม เมกาโฮมและไทยวัสดุ ซึ่งได้นำระบบอีแวบมาใช้ แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาการเหนียวตัว เมื่อข้างนอกมีความชื้นหรือฝนตก เกิดสภาวะร้อนอบอ้าว บางแห่งไม่มีระบบบำบัดน้ำ ทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรค และระบบทำความเย็นชิลเลอร์ ใช้คอมเพรสเซอร์ขนาดใหญ่ ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานมาก และอาจเกิดการสะสมของเชื้อโรคบริเวณคอยล์เย็นขึ้นได้
แต่เครื่องปรับอากาศด้วยลมเย็นประหยัดพลังงาน ควบคุมด้วยอินเวอร์เตอร์คอนโทรลและมินิคอมเพรสเซอร์ ที่พัฒนาจนสำเร็จนี้ สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากถึง 60-70% ค่าติดตั้งและค่าซ่อมบำรุงก็ถูกกว่าเมื่อเทียบต่อตารางเมตรในห้องที่กว้างหรือโดมที่สูง และให้ลมเย็นด้วยระบบทำน้ำเย็นร่วมกับระบบอีแวบของน้ำเย็น ประกอบกับชุดออพชั่นเพิ่มเมนคอนโทรล สามารถต่อระบบเครื่องสร้างลมเย็นได้มากถึง 8 ชุด และมีชุดออพชั่นระบบป้องกันการสตาร์ตคอมเพรสเซอร์พร้อมกัน เพื่อช่วยลดค่าพีคดีมานด์หรือค่าความต้องการพลังงานไฟฟ้า ส่วนถังน้ำอีแวบมีระบบที่เชื่อมต่อกับระบบทำน้ำเย็นแบบพิเศษด้วยเทคนิคคูลลิ่งแบตเตอรี่ ที่ทำให้ระบบสามารถป้อนน้ำเย็นให้กับถังน้ำโดยอัตโนมัติ ขณะที่น้ำในถังเริ่มสกปรก ระบบสามารถปล่อยน้ำทิ้งได้อัตโนมัติ ที่สำคัญยังมีเซ็นเซอร์ควบคุมความชื้นและอุณหภูมิทำให้ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งาน
ด้าน นายยุทธพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มีการติดตั้งระบบระบายอากาศ ดูดคาร์บอน ไดออกไซด์และความร้อนออกจากตัวอาคารที่ติดตั้ง ทำให้หายใจโล่ง และสดชื่นเนื่องจากติดตั้งระบบกรองอากาศ กรองฝุ่นละอองและฆ่าเชื้อด้วยระบบอินฟราเรด และได้รับมาตรฐานการจัดการคุณภาพ ISO9001/2015 และมาตรฐานทางไฟฟ้าจาก P-TECH หน่วยงานจาก สวทช. ส่วนมาตรฐานความปลอดภัยทางไฟฟ้า ผ่านการตรวจสอบตัวอย่างน้ำที่ใช้ในระบบและน้ำทิ้งจากระบบว่าเป็นไปตามมาตรฐานน้ำที่ใช้ในมนุษย์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ระบบทั้งหมดได้ติดตั้งเพื่อใช้งานจริงในหลากหลายสถานที่ไม่ต่ำกว่า 2 ปีเพื่อทดสอบประสิทธิภาพ พบว่าสามารถสร้างลมเย็นได้ประมาณ 24-28 องศาเซลเซียส จัดเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ในประเทศเพื่อการพัฒนาด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศที่มากถึง 70% แต่ยังมีบางชิ้นส่วนที่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
ระบบนี้ยังสามารถใช้งานได้ทั้งห้องเปิดและห้องปิด โดยไม่เกิดความเสียหายกับคอมเพรสเซอร์ และล่าสุดคว้า รางวัลเหรียญเงิน ในงาน “46th International Exhibition of Inventions Geneva” ที่กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และ รางวัลพิเศษ จาก China Association of Inventions ประเทศจีน ในอนาคตเตรียมพัฒนาต่อยอดให้มีประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้น และมีขนาดเล็กลงเพื่อประหยัดพื้นที่อีกด้วย.