กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2561
กรุงเทพธุรกิจ การยาสูบฯส่งโจทย์วิจัยให้ มทร.ธัญบุรี หาวิธีสร้างมูลค่าให้กับแกนต้นกัญชง ของเหลือทิ้ง จากอุตสาหกรรมสิ่งทอ หวังได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ช่วยชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบในเครือข่าย ด้านนักวิจัยพัฒนาเป็นต้นแบบวัสดุก่อสร้างมวลเบา เตรียมใช้สร้างศูนย์การเรียนรู้อาคารอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯ
“เฮมพ์-ไบโอ-บล็อก บล็อกก่อสร้างชีวภาพมวลเบาจากต้นกัญชง” อีกหนึ่ง งานวิจัยจากหน่วยงานวิจัยวัสดุที่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี น้ำหนักเบากว่าบล็อกก่อสร้างทั่วไปต้นทุนการผลิตต่ำ ใช้งานได้จริง การันตี ด้วยรางวัลเหรียญทองแดง ในงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ครั้งที่ 46 ณ นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ และรางวัลเหรียญทองกับรางวัลพิเศษในงานแฟร์สิ่งประดิษฐ์นานาชาติ (SIIF 2017) ณ กรุงโซล เกาหลี
นายประชุม คำพุฒ หัวหน้าหน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า เศษต้นกัญชงที่เหลือทิ้ง จากกระบวนการนำเปลือกไปทำเป็นเส้นใย โดยลอกเส้นใยใช้เป็นสิ่งทอ ทำเสื้อผ้า เมื่อลอกผิวแล้วจะเหลือแกนซึ่งถูกทิ้งให้เป็นวัสดุเหลือใช้ กระทั่ง การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) กระทรวงการคลัง จึงมีโจทย์ต้องการพัฒนานวัตกรรมจากวัสดุเหลือใช้ และยังต้องการนำวัสดุก่อสร้าง ที่ได้จากการวิจัยมาสร้างศูนย์การเรียนรู้อาคารอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ณ สำนักงานใหญ่ ในกรุงเทพฯ
เพื่อเป็นศูนย์การให้ความรู้เกี่ยวกับการนำกัญชงไปใช้ประโยชน์เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อันนำมาซึ่งการส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่ปลูกต้นกัญชงเพื่อสร้างรายได้ทดแทนการปลูกใบยาสูบที่ต้องลดปริมาณลง และเป็นการรองรับการเปลี่ยนแปลงขององค์กร ที่ต้องหารายได้เข้าองค์กร จึงได้จัดทำต้นแบบของวัสดุก่อสร้างจากแกนของต้นกัญชงขึ้นมา เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ของการยาสูบแห่งประเทศไทย สำหรับผลิตจำหน่ายเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค เป็นวัสดุก่อสร้างประเภทต่างๆ
จุดเด่นของ “เฮมพ์-ไบโอ-บล็อก” ช่วยลดหน้าตัดขององค์อาคารลงได้ เนื่องจากมีน้ำหนักเบา และใช้เป็นวัสดุฉนวนความร้อน และฉนวนกันเสียง นการก่อสร้างอาคารประหยัดพลังงานได้ นักวิจัยได้ออกแบบให้สามารถใช้วัสดุ จากกัญชงนี้ก่อสร้างอาคารได้ทั้งหลังในระยะเวลารวดเร็ว โดยใช้ระบบเดือยและสลักรางลิ้น จึงไม่ต้องสิ้นเปลืองการฉาบปูนปิดทับผิวหน้า อีกทั้งผนังอาคารเป็นฉนวนป้องกันความร้อนและป้องกันเสียงได้ ส่วนของบล็อกปูพื้นสามารถลดการสะท้อนความร้อนเข้าสู่ภายในตัวอาคารได้ด้วย
“เฮมพ์-ไบโอ-บล็อก” เป็นวัสดุก่อสร้างมวลเบาที่เกิดจากธรรมชาติ ความคงทน อาจจะไม่คงทนเท่ากับวัสดุก่อสร้าง มวลรวม เช่น ทราย ปูน ที่ต้องทำลาย ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งสักวันหนึ่งทรัพยากรเหล่านี้ต้องหมดไป จึงต้องหาวัสดุอื่นมาทดแทนและชดเชย คุณสมบัติพิเศษของวัสดุมวลเบา คือ ด้านการเป็นฉนวนความร้อน ที่โดดเด่น ช่วยลดภาวะโลกร้อน อีกทั้ง ยังสามารถป้องกันเสียงได้ดีอีกด้วย เหมาะกับการนำไปใช้งานเป็นวัสดุสำหรับการก่อสร้างอาคารที่อนุรักษ์พลังงานและ สิ่งแวดล้อม ตลอดจนที่พักอาศัยทั่วไป โดยมี มาตรฐานของ มอก.ที่จำหน่ายในท้องตลาด ทั่วไป”
ในอนาคตจะพัฒนาวัสดุก่อสร้างมวลเบา ให้ไล่แมลงในตนเอง สามารถลดยูวี สะท้อนรังสีความร้อนและดูดซับคาร์บอน โดยงานวิจัยมีต้นทุนการผลิตต่ำ จึงเหมาะกับ วิสาหกิจชุมชนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในเชิงพาณิชย์ต่อไป
ยสท.มีโจทย์ต้องการพัฒนาแกนต้นกัญชงให้เป็นนวัตกรรมวัสดุก่อสร้างทางเลือก
ประชุม คำพุฒ