สยามกีฬา ฉบับวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562
“ตอนนี้อายุ 30 ปีแล้วถือว่าเป็นนักกีฬากรีฆาที่อายุเยอะที่สุดของทีมชาติไทยชุดนี้ ในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งนี้จะคว้าเหรียญทองมาฝากคนไทย เพราะเป็นรายการแข่งขันครั้งสุดท้ายของการเป็นทีมชาติแล้วค่ะ
“ก้อย” จ่าอากาศโทหญิง ทัศพร วรรณกิจ ลมกรดสาวไทยผลัด 4×100 เมตรหญิง เผยถึงความตั้งใจในการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่ถึงเดือนนี้พร้อมเป้าหมายและแผนที่วางไว้หลังจบการแข่งขัน ทัศพร บอกว่ากับการรับใช้ชาติมายาวนาน 11 ปีของชีวิตนักวิ่งคนหนึ่งถือว่ายาวนานมาก แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ก็ไม่ง่ายเลยทีเดียว
“พื้นเพเป็นคนอำเภอลำปลายมาศจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นลูกคนที่ 2 พ่อและแม่ทีมีอาชีพเกษตรกรทำนา ทำสวน โดยตอนเด็กๆ ไม่เคยคิดและมีความฝันการเป็นนักกีฬาทีมชาติไทย เป็นเหมือนเด็กทั่วไปที่ชอบเล่นกีฬาหลังจากเรียนขบชั้นประถมจากโรงเรียนบ้านเมืองแฝก พ่อได้พามาสมัครที่โรงเรียนกีฬาอุบลราชธานี ซึ่งพ่อผลักดันให้เรียนโรงเรียนกีฬา โดยหวังอยากให้ลูกได้เป็นนักกีฬา”
“คอนนั้นก็ไม่ได้คาดหวังอะไร พ่อให้เรียนเรียนตามที่พ่อชอบ พ่อเลือกกีฬาวิ่ง ตอนที่เข้าเรียนใหม่ๆ บอกตามตรงว่าไม่ได้ชอบวิ่ง แค่เมื่อได้เรียนได้ซ้อมเข้ามาอยู่ในศูนย์ฝีกที่โรงเรียนได้อยู่กับวิ่งทุกวัน รู้สึกสนุกและชอบ”
ลมกรดสาวไทยกล่าวอีกว่า มีโอกาสได้ลงแข่งขันตามรายการต่างๆ ได้รางวัลบ้างไม่ได้รับรางวัลบ้าง จนเมื่ออายุ 15 ปีจำได้ว่าตอนนั้นเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 ภูมิใจมากติดนักกีฬากรีฑาเยาวชนทีมชาติไทย ซึ่งถือเป็นบันไดขั้นที่ 1 ในการก้าวสู่ขั้นอื่นต่อไปทำให้ตนเองมุ่งมั่นในกีฬาประเภทนี้หมั่นฝึกซ้อม
จากกาวแรกในระดับเยาวชนที่สุดแล้วทัศพร ก็พัฒนาฝีเท้าให้เด่นชัดจนสามารถก้าวสู่ทีมชาติชุดใหญ่ขณะที่อายุ 19 ปี โดยมีชื่อติดทีมวิ่งผลัด 4×100 เมตรหญิงทีมชาติไทยชุดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 16 ที่กว่างโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งครั้งนั้นทีมวิ่งผลัดหญิง 4×100 เมตรคว้าเหรียญทอง โดยการชนะเจ้าภาพ
“ตอนนั้นแม้จะเป็นแค่ตัวสำรองไม่ได้ลงแข่ง แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นและความภูมิใจของเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่งที่ได้มุ่งมั่นและชนะใจตนเองเข้ามาเป็นนักกีฬากรีฑาทีมชาติไทยรับใช้ทีมชาติ”
ความสามารถและการพัฒนาของทัศพรไม่หยุดแค่นี้เธอสามารถพิสูจน์ให้เห็นเด่นชัดมากขึ้นด้วยการสร้างผลงานคว้าเหรียญทองวิ่ง 100 เมตรหญิงและเหรียญทองวิ่งผลัด 4×100 เมตรหญิง ซีเกมส์ ครั้งที่ 27 ที่พม่า, เหรียญเงินวิ่ง 100 เมตรหญิง และเหรียญทองทีมวิ่งผลัด 4×100 เมตรหญิงซีเกมส์ ครั้งที่ 28 ที่สิงคโปร์ และเหรียญเงินทีมวิ่งผลัด 4×100 เมตรหญิงซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ที่มาเลเซีย
กว่า 11 ปีที่รับใช้ชาติมันคือความสุข ความผูกพัน ที่สำคัญนั่นคือ “ความรัก” ในกีฬาชนิดนี้ ที่เป็นจุดทำให้ทัศพรไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง
“ต้องท่องเสมอว่าทำได้ ถ้าทำได้ถือว่าได้ไปต่อ สู้ไหวต้องไปต่อ”
“กีฬาวิ่งเป็นกีฬาที่เหนื่อยต้องแบ่งเวลาในการซ้อม ซ้อมหนัก ด้วยอายุที่มากทำให้มีอุปสรรคหลายอย่าง การรักษาการฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บต้องใช้เวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่บั่นทอนจิตใจตนเอง หรือบางครั้งส่งผลต่อทีม แต่อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือตัวเราต้องควบคุมมีสติ สมาธิ แข่งกับเวลา แข่งกับตนเอง ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั้น”
“กีฬาวิ่งต้องใช้ความอดทนสูง ถ้าไม่มีความพยายามพอเมื่อใดที่ท้อทุกอย่างจะไม่สำเร็จ ต้องสู้กับตนเอง มีวินัยในการฝึกซ้อม จะคิดไว้เสมอว่าพรสวรรค์ต้องมาพร้อมพรแสวง”
แน่นอนว่า 11 ปีของการรับใช้ชาติให้อะไรกับชีวิตมากมาย โดยเฉพาะด้านการเรียน ทัศพร สำเร็จการศึกษาจากสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมพ์, ปริญญาโทสาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และปัจจุบันกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาโทสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี
“ต้องขอบคุณทางมหาวิทยาลัยที่ให้โอกาสได้เข้ามาศึกษาใน มทร.ธัญบุรี ความรู้ที่ได้จากการเรียนสามารถนำไปต่อยอดในการทำงาน ที่เรียนทางด้านนี้อยากนำไปปรับใช้ในการทำงาน ซึ่งปัจจุบันรับราชการฝ่ายพลาธิการ กองบริการกรมสวัสดิการทหารอากาศ”
อย่างที่รู้กันว่าอีกไม่กี่วัน ทัศพร ก็จะร่วมทีมกรีฑาไทยไปแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่ฟิลิปปินส์ซึ่งความตั้งใจของเธอคือการคว้าเหรียญทองวิ่งผลัด 4×100 เมตรหญิง ให้ได้ก่อนจะปิดฉากชีวิต 11 ปี ของการรับใช้ชาติ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในฐานะนักกีฬา ทัศพร ยืนยันว่าเธอจะยังช่วยสอนและพัฒนารุ่นน้องใหม่ๆ ที่เข้ามารับใช้ชาติเพื่อสร้างผลงานสร้างชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาตินำมาซึ่งความภาคภูมิใจให้ตัวเองและครอบครัวเหมือนเช่นที่เธอได้รับต่อไป