เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
“มาตรฐานอุปกรณ์ก็ส่วนหนึ่ง. ขณะที่การไม่มีความรู้ที่ถูกต้องในการใช้งาน หรือใช้งานอย่างไม่ถูกต้อง นั่นก็ใช่สาเหตุ.” …เป็นเสียงจากผู้เชี่ยวชาญอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายหนึ่งที่เคยสะท้อนไว้กับ “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” เกี่ยวกับกรณี ‘โทรศัพท์มือถือระเบิด” ซึ่งในอดีตเคยมีช่วงหนึ่งที่เกิดขึ้นถี่ ๆ และในปี 2561 นี้ก็มีข่าวเกิดเหตุในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งบางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ถึงขั้นเกือบทำให้ “เสียชีวิต!!”ซึ่งเรื่องนี้กรณีนี้น่าจะต้องใส่ใจกันจริงจังให้มากขึ้น เพราะ…
มีตั้งแต่ ‘ระเบิดจนทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้”
รวมถึง ‘ระเบิดจนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ”
อีกทั้งยังมีผู้ ‘เสียชีวิตเพราะมือถือ” ด้วย!!!
ตัวอย่างเหตุการณ์ “มือถือระเบิด” ที่เกิดขึ้นในปีนี้ ก็เช่น…วันที่ 2 เม.ย. เกิด ไฟไหม้รถยนต์ในร้านคาร์แคร์ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ สาเหตุเกิดจาก เสียบสายชาร์จโทรศัพท์มือถือไว้ในรถ, วันที่ 23 เม.ย. เกิด ไฟไหม้บ้านใน จ.เชียงใหม่ โดยพบว่าสาเหตุเกิดจากการที่เจ้าของบ้าน ชาร์จโทรศัพท์มือถือและโน้ตบุ๊กทิ้งไว้ ก่อนจะงีบหลับไป จนได้ยินเสียง ระเบิด ซึ่งเมื่อตื่นขึ้นก็เห็นประกายไฟลุกไหม้จากโทรศัพท์มือถือ ก่อนจะลามไปติดผ้าม่านจนเกิดไฟไหม้ขึ้น, วันที่ 14 เม.ย. เกิด ไฟไหม้อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.ปทุมธานี โดยเหตุการณ์นี้พบว่ามีสาเหตุจากการ เสียบมือถือชาร์จทิ้งไว้นานเกินไป
วันที่ 4 พ.ค. ก็มีกรณี “มือถือระเบิด” เกิดขึ้นกับคุณลุงวัย 61 ปี ซึ่งได้ ชาร์จโทรศัพท์มือถือทิ้งไว้ จนทำให้ ได้รับบาดเจ็บถึงขั้นนิ้วขาดและในช่วงเวลาใกล้เคียงกันก็ยังมีอีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนวัย 19 ปี ที่ โทรศัพท์มือถือระเบิดคากระเป๋ากางเกง จนส่งผลให้ ได้รับบาดเจ็บ เช่นกัน ขณะที่ตัวอย่างถัดมาคือ…วันที่ 14 ต.ค. เกิด ไฟไหม้ห้องแถวแห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากการ ชาร์จโทรศัพท์มือถือทิ้งไว้บนที่นอน และล่าสุดเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีเหตุระทึก ไฟไหม้รถยนต์ คันหนึ่ง ที่เจ้าของรถได้ เสียบชาร์จโทรศัพท์มือถือไว้ในรถ …เหล่านี้เป็นกรณีตัวอย่างที่เคยเกิด…
ทั้งทำให้เกิด ‘ไฟไหม้”…รวมถึงทำให้ ‘บาดเจ็บ”
โชคยังดีที่เหตุเหล่านี้ยังไม่ถึงขั้นทำให้เสียชีวิต…
ทั้งนี้ เกี่ยวกับกรณี “มือถือไฟไหม้-มือถือระเบิด” ซึ่งระยะ หลัง ๆ ก็ชักเกิดถี่ ๆ อีกแล้วนั้น แม้อาจจะดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่จริง ๆ เป็น ‘ภัยใกล้ตัวที่ต้องกลัว” เช่นกัน โดยผู้เชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์อิเล็ก ทรอนิกส์ได้เคยวิเคราะห์ถึง “สาเหตุ” ไว้ว่า…กรณีนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากการ ใช้อุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น สายชาร์จ อะแดปเตอร์แปลงไฟ แบตเตอรี่ ที่เป็น ของเลียนแบบที่มีคุณภาพต่ำจนทำให้เกิดเหตุร้ายขึ้น ซึ่งเกิดได้ทั้ง ขณะกำลังใช้งานโทรศัพท์มือถือ และ ขณะกำลังชาร์จทิ้งไว้
เพราะอาจจะทำให้ “เกิดไฟฟ้าลัดวงจร”
จากอุปกรณ์เสริมที่ไม่ได้คุณภาพนั่นเอง…
สำหรับสาเหตุที่มาจาก “การชาร์จโทรศัพท์มือถือ” นั้น ปัจจัยหลัก ๆ มักจะเกิดจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่รู้วิธีชาร์จแบตเตอรี่ที่ถูก ต้อง ซึ่งในส่วนนี้ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็ได้เคยให้ คำแนะนำไว้ว่า…การชาร์จมือถืออย่างถูกวิธีนั้น เริ่มจาก เลือกใช้สายชาร์จที่มีคุณภาพ โดยดูจากการมีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิต ภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.), ไม่ชาร์จติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไปเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความร้อนสะสมจนทำให้แบตเตอรี่บวมและเกิดระเบิดขึ้น
ที่สำคัญ ไม่ควรปล่อยให้แบตเตอรี่หมดแล้วจึงชาร์จ แต่ควรชาร์จเมื่อประจุไฟอยู่ที่ระดับประมาณ 40% หรืออย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 20% เพื่อให้ประจุไฟแบตเตอรี่ทำงานได้ตามปกติ เพราะการชาร์จเมื่อแบตเตอรี่หมดหรือใกล้จะหมดนั้น จะส่งผลให้แบตเตอรี่ต้องทำงาน หนักเพิ่มมากขึ้นเป็น 3 เท่า ซึ่งไม่เพียงทำให้อายุการใช้งานแบตเตอรี่สั้นลง แต่ยังอาจทำให้เกิดอันตรายด้วย เนื่องจากอาจเป็นสาเหตุทำให้ แบตเตอรี่เกิดการร้อนจัดจนระเบิด…เป็นคำแนะนำในการชาร์จ
“วิธีถูกต้อง” ในการ “ชาร์จโทรศัพท์มือถือ”
นอกจากนี้ก็ยังมีคำแนะนำอื่น ๆ อาทิ…ควรเสียบสายชาร์จ กับปลั๊กไฟก่อน แล้วจึงค่อยเสียบสายชาร์จเข้ากับมือถือ เพื่อป้องกันไฟกระชาก และเพื่อไม่ทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพเร็วกว่าที่ควร และควรต้อง งดใช้มือถือขณะกำลังชาร์จแบตเตอรี่ ควร ใช้ปลั๊กไฟสาย พ่วงขณะชาร์จ เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรและไฟกระชาก ไม่ชาร์จมือถือทิ้งไว้ขณะที่ไม่มีคนอยู่ เพราะเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจร เป็นต้น…เหล่านี้ก็เป็น “ข้อควรระวัง” ที่ควรปฏิบัติตาม
ทั้งนี้ ทางนักวิชาการภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผศ.ดร.ไพฑูรย์ รักเหลือ ก็ได้เคยสะท้อนถึง ‘ภัยจากโทรศัพท์มือถือ”ผ่านทาง “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ไว้ว่า…ภัยต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือนั้น ปัญหาส่วนใหญ่มักเกิดจาก’ความประมาทของผู้ใช้” ซึ่งบาง คนจะเลือกใช้อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือจำพวกสายชาร์จ อะแดปเตอร์แปลงไฟ แบตเตอรี่ ที่เป็นของลอกเลียนแบบที่ไม่ได้มาตฐาน รวมถึงใช้งานอุปกรณ์ที่มีความชำรุด ซึ่งล้วน มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็น…แบตเตอรี่ระเบิด ไฟฟ้าช็อต ไฟฟ้าลัดวงจร
นี่ยังไม่รวม ‘อันตราย” จากการที่ ‘ไฟรั่ว-ไฟดูด”
ที่ ‘เกิดกับผู้ที่ใช้มือถือขณะกำลังชาร์จ” บ่อย ๆ
มือถือจอไม่ดับ…แต่ ‘ชีวิตดับ” หลายรายแล้ว!!.