เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2561
ทีมข่าวการศึกษา
เป็นที่ทราบกันดีว่า วันนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ผุดขึ้นมากมายราวดอกเห็ด เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก และความต้องการของมนุษย์ ฉะนั้นจึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า นักนวัตกรรม นักประดิษฐ์ คิดค้น จึงเป็นบุคคลที่มีความสำคัญ และจำเป็นสำหรับประเทศ
การจะสร้างคนให้คิดเป็น คิดได้ สร้างนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ได้นั้น อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่วันนี้ รายการ ทีช ทอล์ค ทัวร์ สเตชัน โดยทีมข่าวการศึกษาหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ จะพาไปที่ โรงเรียนสาธิตนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลธัญบุรี ไปส่องการจัดการเรียนการสอนของที่นี่ว่ามีอะไรดี จะสามารถสร้างคนเพื่อรองรับยุค 4.0 และ 5.0 ในอนาคตได้อย่างไร
ดร.รสริน เจิมไธสง ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี บอกว่า แนวคิดในการ จัดตั้งโรงเรียนโดยผู้อำนวยการโรงเรียนคนแรก รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คือ การจัดการศึกษาเพื่อผลิตนักเรียนที่จะเป็นนวัตกรตัวน้อย ดังนั้นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนจึงเน้นลักษณะของการบูรณาการ ที่เรียกว่า IDS STEAM Model ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนการสอนโดยมีหลักแนวคิดอยู่ 3 ประการ คือ FUN เด็กเรียนด้วยความสุขและสนุก HAND ON ได้ลงมือปฏิบัติผ่านกระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการแก้ปัญหา กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และสุดท้ายเด็กจะเกิดการ CREATE เป็นการนำความคิดออกมาสู่การลงมือทำ
จากหลักคิดมาสู่การปฏิบัติ ดร.รสริน อธิบายว่า IDS STEAM Model เป็นการสอนให้เด็กรู้จักการนำความรู้ใน 5 ศาสตร์ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปะ และคณิตศาสตร์ มาบูรณาการผ่านการออกแบบสร้างสรรค์ ประดิษฐ์ คิดค้นชิ้นงานผ่านโครงงาน โดยโครงงานจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ โครงงานที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ โครงงานที่เป็นการทดลอง และโครงงานในส่วนของการสำรวจ ซึ่งโรงเรียนสาธิตนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จะเน้นให้นักเรียนทุกระดับชั้นประดิษฐ์คิดค้นโครงงานดังกล่าว เพราะเราเชื่อในหลักที่ว่า การทำโครงการจะทำให้เด็กเกิดแรงบันดาลใจภายใต้การลงมือปฏิบัติ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน และทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้อย่างมีความสุขด้วย
“โรงเรียนไม่เพียงสอนเด็กให้เกิดความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ยังสนับสนุนให้เด็กได้นำโครงงานไปสู่การประกวดเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ด้วย ถึงแม้การไปประกวดจะไม่ได้รับรางวัลใดกลับมา แต่ก็ทำให้เด็กๆ ได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่า ได้เรียนรู้และสามารถนำประสบการณ์นั้น ๆ กลับมาต่อยอดความรู้ได้” ผอ.รสรินกล่าวพร้อมกับย้ำว่า การเรียนการสอนของที่นี่ แต่ละระดับชั้นจะมีธีมของโครงงาน เช่น ป.1 เรื่องพลังงานลมเด็กๆ ก็จะได้ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่เกี่ยวกับพลังงานลม การขับเคลื่อนด้วยพลังงานลม อย่างการประดิษฐ์เครื่องเล่น เครื่องบินจากวัสดุเหลือใช้โดยใช้พลังงานลมในการขับเคลื่อน พอขึ้นชั้นที่สูงขึ้นก็จะมีโจทย์ที่ซับซ้อนมากขึ้น มีเรื่องของแรงโน้มถ่วงของโลก ความยืดหยุ่น การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
และจากการได้พูดคุยกับน้องๆ ทำให้รับรู้ได้ทันทีว่า เด็ก ๆ ถูกฝึกและหล่อหลอมผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ สามารถตอบคำถาม และอธิบายได้อย่างฉะฉาน หลายคนฉายแววการเป็น “นวัตกรน้อย” ตัวจริง เป็นความหวังของชาติได้อย่างแน่นอน
ติดตามชมเนื้อหาแบบเต็มๆ รายการ “ทีช ทอล์ค ทัวร์ สเตชัน”EP 33 โรงเรียนสาธิตนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี รวมถึง EP อื่น ๆ ย้อนหลังผ่านช่องทาง YouTube : DailyNews Live-TH หรือชมสด ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 11.30-12.00 น.