บุคลากร 3 สถาบัน ร่วมวิจัยและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่อผู้พิการ “รถเข็นไฟฟ้าควบคุมด้วยเสียงผ่านมือถือ”
ผลงานนี้ใช้ชื่อว่า PMK-Electric Power Wheelchair Control by Voice โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ต้องการให้ผู้พิการอัมพาตช่วงบนและครึ่งล่าง (Quadriplegia) ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผลงานนี้เป็นความร่วมมือกันของ 3 สถาบัน ประกอบด้วย ผศ.ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม หัวหน้าสาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี, รศ.ดร.เบญจ ลักษณ์ เมืองมีศรี มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระ บรมราชูปถัมภ์ จ.ปทุมธานี และ พ.อ.ผศ.นพ.อารมย์ ขุนภาษี และ พ.อ.รศ.นพ.สุธี พานิชกุล จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ร่วมกับ นายนพรัตน์ เย็นใจ, นายรัฐภูมิ บุญศิริ และ นายสุทธิพงศ์ กลิ่นหอม นักศึกษาสาขาแมคคาทรอนิกส์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.ธัญบุรี
พ.อ.ผศ.นพ.อารมย์ เผยว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลมีผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุจากการสู้รบ โดยบางรายได้รับบาดเจ็บครึ่งล่าง (Paraplegia) และบางรายได้รับบาดเจ็บหรืออัมพาตช่วงบนและครึ่งล่าง (Quadriplegia) ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยในลักษณะนี้ให้สามารถนั่งอยู่บนรถเข็นและสามารถสั่งการได้ โดยผู้ป่วยสามารถสั่งงานขับเคลื่อนรถเข็นไฟฟ้าให้เคลื่อนที่ภายในบ้านและบริเวณรอบ ๆ บ้านได้ด้วยตนเอง ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น และทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพจิตดีอีกด้วย
ผศ.ดร.เดชฤทธิ์ กล่าวเสริมว่า รถเข็นไฟฟ้าควบคุมด้วยเสียงผ่านมือถือนี้ จะทำงานผ่านมือถือระบบ Android ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากการใช้ไมโครโฟน เพราะในปัจจุบันเทคโนโลยีและการใช้มือถือจะอยู่ใกล้ตัวเรามาก สำหรับการทำงานจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนรถเข็น(Hardware) ส่วนควบคุม (Control) และ ส่วนซอฟต์แวร์ (Software) โดยมีหลักการทำงานคือ เมื่อผู้ป่วยสั่งงานด้วยเสียงพูด เช่น เดินหน้า ถอย
หลัง เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา และหยุด มีผลทำให้มือถือที่ติดต่อระบบ Bluetooth ส่งค่าสัญญาณโลจิก 1 และ 0 ไปที่ไมโครคอนโทรลเลอร์ (Microcontroller) หลังจากนั้นไมโครคอนโทรลเลอร์จะส่งสัญญาณเอาต์พุตออกไปที่ชุดขับมอเตอร์ (DC Drive) และมีผลทำให้สามารถควบคุมทิศทางการหมุนตามทิศทางที่ต้องการได้
ด้าน พ.อ.รศ.นพ.สุธี กล่าวเสริมว่า ในอนาคตจะมีการนำไปใช้กับผู้ป่วยราชการสนามที่ได้รับบาดเจ็บและถูกปลดประจำการให้ได้ใช้อุปกรณ์ชุดนี้ สั่งการอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในบ้านได้ เช่น เปิด-ปิดไฟฟ้า เป็นต้น
นับเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยให้การใช้ชีวิตของผู้พิการมีความสะดวกสบาย สามารถช่วยเหลือตนเองเบื้องต้นได้ตามต้องการ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น.