กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 เม.ย. 2565
พวงชมพู ประเสริฐ
qualitylife4444@gmail.com
เพราะ”บ้าน”หลังเดิมที่อยู่เมื่อ วัยหนุ่มสาว อาจไม่ปลอดภัยเมื่อเข้าสู่สูงวัย ด้วยสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่เหมือนเดิม จำเป็นอย่างมากที่ต้องปรับ เปลี่ยนบ้านให้เหมาะสม เพิ่มความปลอดภัย โดยเฉพาะ 4 จุดสำคัญที่อาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้สูง
กรุงเทพธุรกิจ มีการค้นพบว่า ผู้สูงอายุเกือบ 100%อยู่ในบ้านเดิม และ เกิดอุบัติเหตุในบ้าน โดยปีละประมาณ 1,000 คน หรือเฉลี่ยวันละ 3 คนที่เสียชีวิตจากการหกล้ม จากที่เกิดการหกล้มปีละ เกือบ 5 แสนคน นอกจากนี้ เคยมีการสำรวจบ้านในกรุงเทพฯมีแค่ 7% ที่ปลอดภัย ไม่นับรวมโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม
รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากงานวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุที่หกล้มประมาณ 90% เกิดจากสภาพแวดล้อม โดยสะดุดสิ่งกีดขวาง 39% พื้นลื่น 34% พื้นต่างระดับ 10% ตกเตียงและบันได 6% ซึ่งก่อนหน้านี้สัดส่วนการหกล้มนอกบ้านและในบ้านสัดส่วนเท่ากัน แต่ในช่วง 2 ปีของโควิด19 ผู้สูงอายุอยู่บ้านมากขึ้น สัดส่วนการหกล้มในบ้านจึงพบถึง 80% สถานที่ที่หกล้มในบ้าน 4 จุดหลัก ได้แก่ ห้องนอน 30 % ห้องน้ำ 25% บันได 12% และระเบียงบ้าน 5%
“คนไทยซื้อบ้านตอนแต่งงาน บ้านจึงเป็นบ้านสำหรับวัยหนุ่มสาว จึงเป็นบทเรียนว่าจะต้องซื้อบ้านแบบเผื่อไว้อีกช่วงวัยหนึ่ง หรือไม่ก็เปลี่ยนบ้านตามพฤติกรรมการอยู่อาศัย แต่เป็นเรื่องยากของคนไทยเพราะจะซื้อบ้าน 1 หลังแล้วอยู่ยาว บ้านจึงไม่มีความปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ”รศ.ไตรรัตน์กล่าว
บ้านที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ จาก งานวิจัยล่าสุดต้นพบจุดนัดพบต่อการหกล้ม 4 จุดในบ้าน จึงต้องขจัดตรงจุดนี้ เพื่อสร้างความปลอดภัย ประกอบด้วย 1.ห้องน้ำ เพราะผู้สูงอายุต้องเข้าห้องน้ำเฉลี่ย 5 ครั้งต่อวัน โอกาสเกิดอุบัติเหตุจึงมีมาก และมักเกิดในช่วงเวลาที่ไม่มีคนอยู่บ้าน นำมาสู่การเสียชีวิตและบาดเจ็บหนักขึ้น 2.บันได ผู้สูงอายุ 100% จะอยู่ชั้นบน เมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่อยากย้ายลงมาข้างล่าง เพราะไม่ได้มีกั้นห้องนอนไว้ ทำให้ต้องเดินขึ้นลงบันไดลำบาก
3.ห้องนอน โดยผู้สูงอายุมักจะลุก เข้าห้องน้ำตอนกลางคืน บริเวณมี ความมืด เตียงนอนสูงจากพื้นมากขาลอย พรหมลื่นเกิดการหกล้มได้ ส่วนผู้สูงอายุในชนบทนอนฟูกบนพื้น ลุกลำบาก ข้อเข่าติด เมื่อพยายามลุกเดินทำให้ล้มตรงจุดนั้น ฉะนั้น เตียงนอนต้องปรับปรุงให้มีความสูงจากพื้นระดับที่ขาถึงพื้นพอดีขณะนั่งขอบเตียง ไม่มีพรหม ถ้าไม่มีแรงพยุงตัวต้องมีราวจับพยุงตัวขึ้นจากเตียง และควรตะแคงขวายันขึ้นนั่งก่อนอย่ารีบร้อน ตั้งสติดีแล้วค่อยลุก เพราะผู้สูงอายุเกือบ 80 %มีความดันโลหิตสูง จะหน้ามืดง่ายขณะเปลี่ยนท่าทาง
และ4.พื้นที่รอยต่อในและ นอกบ้าน มี 3 จุดหลัก คือ ระเบียงหน้าบ้าน การซักล้างหลังบ้าน ที่จอดรถข้างบ้าน ซึ่งบ้านบางหลังไม่มีหลังคาคลุม เมื่อฝนตก ทำให้พื้นลื่น มีตะไคร่ขึ้น พื้นต่างระดับ เพราะฉะนั้น การแก้ไขจะต้องทำหลังคาคลุมและทำพื้นให้เรียบเสมอกัน
หลักการปรับปรุงบ้านในจุดเสี่ยง มี 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.พื้นต้อง เรียบเสมอกัน อะไรที่เป็นสิ่งกีดขวาง เช่น ธรณีประตู สิ่งที่ขั้นต้องเอาออกให้หมด 2.พื้นไม่ลื่น จะต้องให้พื้นมีความหยาบขึ้น กรณีที่ไม่อยากรื้อพื้น ปัจจุบันมีน้ำยาที่ราดแล้วจะมีความหนืดขึ้นประมาณ 10 % 3.มีราวจับ บริเวณที่ลื่น ภายในภายนอกบ้าน ประตู หน้าต่าง และ4.มีแสงสว่างเพียงพอ
“ถ้าปรับปรุงในจุดเสี่ยง 4 จุดสำคัญ ให้ครบทั้ง 4 อย่างนี้ ก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในบ้านให้กับผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งในการปรับปรุงนั้นสามารถจัดหาวัสดุได้ตั้งแต่หลัก 100 หลัก 1,000 หรือมากกว่านั้น ทำได้ตามงบประมาณ ไม่จำเป็นต้องใช้ที่มีราคาแพงทั้งหมด” รศ.ไตรรัตน์ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ประสงค์ที่จะปรับปรุงบ้านให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ศูนย์ออกแบบเพื่อทุกคน(UDC) 12 แห่งทั่วประเทศ แยกเป็น 5 ศูนย์ คือ คณะสถาปัตยกรรม ม.เชียงใหม่ ม.สงขลานครินทร์ ม.มหาสารคาม ม.ธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 7 เครือข่าย ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.)เชียงราย ม.แม่โจ้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)ศรีวิชัย ม.นครพนม มทร.สุวรรณภูมิ วิทยาเขตนนทบุรี มทร.ธัญบุรี และม.เกษตรศาสตร์
รศ.ไตรรัตน์ แนะนำด้วยว่า การเตรียมตัวรองรับการเป็นผู้สูงวัย ยิ่งเตรียมตัวเร็วยิ่งดี ในส่วนของสภาพแวดล้อม เมื่ออายุ 40 ปีควรต้องเริ่มพิจารณาว่าจะอยู่บ้านหลังเดิมอีกนานเท่าไหร่ หรือลูกหลานจะปรับปรุงบ้านให้พ่อแม่เมื่อไหร่ โดยส่วนใหญ่จะมีความคิดว่าปรับปรุงบ้านตอน 60 ปี หรือตอนที่พ่อแม่หกล้มแล้ว บางครั้งอาจสายไปแล้ว จึงต้องเปลี่ยนความคิด ต้องปรับปรุงก่อนเพื่อป้องกันการหกล้ม ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีทัศนคติว่าบ้านหลังเดิมอยู่มานานแล้วคุ้นเคย มีความปลอดภัย ไม่ต้องปรับปรุง ตัวเองยังแข็งแรงดี และต้องการประหยัด แต่ไม่ได้คิดถึงอนาคต
“อย่ารอให้ผู้สูงอายุมาบอกว่าต้องการปรับปรุงบ้านเพราะจะไม่พูด ด้วยความเกรงใจ แต่เป็นหน้าที่ของลูกหลานที่จะต้องปรับปรุงบ้านให้ผู้สูงอายุเพื่อความปลอดภัยขึ้น ซึ่งหากลูกหลานไม่ปรับ หากผู้สูงอายุหกล้ม ลูกหลานจะเดือดร้อนด้วย” รศ.ไตรรัตน์ กล่าว
สิ่งที่รัฐต้องสนับสนุนบ้านผู้สูงอายุ
กรุงเทพธุรกิจ รศ.ไตรรัตน์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลควรสนับสนุนการปรับปรุงเพื่อผู้สูงอายุ อาทิ 1.ภาษีลูกกตัญญู 20,000 บาทแล้วต้องแบ่ง 2 คนน้อยไป ซึ่งเคยมีการทำวิจัยว่าปรับบ้านแต่ละครั้ง งบประมาณราว 50,000-1 แสนบาท จึงอยากให้มีสิทธิหักภาษีส่วนนี้ได้มากขึ้น โดยรัฐบาลจะได้ลดภาระในเรื่องค่ารักษาพยาบาล ที่จะเกิดขึ้นกรณีผู้สูงอายุหกล้ม 2.มีโครงการ “ช็อปช่วยชาติ” รุ่นลูกกตัญญู โดยเมื่อไปซื้ออุปกรณ์ปรับปรุงห้องน้ำ ราวจับ พื้น ลดราคาให้หรือยกเว้นภาษีให้ด้วยการไม่คิด VAT ซึ่งประเทศอื่นมีการดำเนินการ
และ3.ควรมีนโยบาย และออกกฎหมายเรื่อง social housing มารองรับ โดยบังคับโครงการบ้านจัดสรรหรือคอนโด ต้องกันไว้ 10 %เพื่อสังคม หรือเพื่อผู้สูงอายุ ที่มีการทำห้องน้ำเรียบเสมอกันมีราวจับ ในราคาเท่ากับคนปกติ คือสามารถอยู่ปะปนในห้องทั่วไปได้ เช่น ประเทศสิงคโปร์ หากรับพ่อแม่มาอยู่ด้วย ให้สิทธิพิเศษในการเลือกก่อน ทำให้ได้ห้องที่มีการออกแบบรองรับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุและราคาพิเศษ ซึ่งอนาคตผู้สูงอายุจะอยู่ร่วมกับลูกหลานอยู่ในโครงการ เนื่องจากในปี 2576 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุ 30% ของประชากร
“รัฐเองยังเข้าใจผิดเรื่องผู้สูงอายุ คือ ยังมองเป็นฐานสงเคราะห์ ต้องจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สร้างบ้านพักคนชรา ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น แต่ไม่เห็นด้วยกับการจ่ายให้ทุกคน เพราะมีคนเดือดร้อนเพียง 10% ส่วนอีก 90% เก็บเงินส่วนนี้มาสร้างสวัสดิการแบบให้ลูกหลานลดภาษีซื้ออุปกรณ์ ลด VAT เพื่อให้ทุกคนดูแลตัวเองก็จะได้มากกว่า” รศ.ไตรรัตน์ กล่าว
เป็นหน้าที่ของลูกหลานที่จะต้องปรับปรุงบ้าน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้สูงอายุ
รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์