เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 08 มิถุนายน พ.ศ. 2561
ดร.ไฉน น้อยแสง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เจ้าของผลงาน เซลล์ต้นกำเนิดบัวหลวง เปิดเผยว่า ได้ศึกษาวิจัยเซลล์ต้นกำเนิด หรือสเต็มเซลล์จากบัวหลวงเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนานวัตกรรมเครื่องสำอางเพื่อความงาม เหตุที่เลือกบัวหลวงมาวิจัย เนื่องจากเป็นพืชสมุนไพรที่นำมาใช้เป็นส่วนผสมเครื่องยารักษาโรคของคนไทยมาช้านาน และยังเป็นอาหารของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานหลายศตวรรษ ดอกบัวยังถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ในศาสนาพุทธและฮินดู เกือบทุกส่วนของบัวหลวงสามารถนำมาสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางได้ แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของวัตถุดิบบัวหลวง เนื่องจากกระบวนการเพาะปลูกของบัวหลวงนั้นมีโอกาสปนเปื้อนสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงได้
จากการสืบค้นข้อมูลภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทย พบว่าบัวหลวงมีประโยชน์ทางด้านความงามและมีรูปแบบการใช้แบบพื้นบ้านดั้งเดิม จึงได้ศึกษาวิจัยโดยเพาะพันธุ์เซลล์ต้นกำเนิดบัวหลวงที่ไม่มีการปนเปื้อนสารพิษและโลหะหนัก และได้นำเซลล์เนื้อเยื่อเจริญของบัวหลวงมาสกัดเพี่อให้ ได้สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพต่อยอดจากภูมิปัญญาพื้นบ้านเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในรูปแบบอิมัลชั่น ซึ่งมีคุณสมบัติในการยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์อิลาสเตส ช่วยลดเลือนริ้วรอย และไทโรซิเนสและโดปาออกซิเดส ช่วยในเพิ่มความขาวกระจ่างใส ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังรวมถึงมีความคงตัวเป็นเวลา 2 ปีภายใต้สภาวะอุณหภูมิต่าง ๆ
“จุดเด่นของผลิตภัณฑ์จากเซลล์ต้นกำเนิดบัวหลวงที่ต่อยอด แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ กลุ่มไวเทนนิ่ง เช่น โลตัส เซลล์ คัลเจอร์ เซรั่ม ที่ช่วยบำรุงผิวหน้าและคอ ช่วยในเรื่องความกระจ่างใส เหมาะกับคนเอเชียในสภาพอากาศร้อนและท่านที่แต่งหน้า อีกกลุ่มคือเฟิร์มมิ่ง เช่น โลตัส คัสเชอะ รีเจอเนอรีส คอมเพล็กซ์ที่บำรุงผิวหน้าและรอบดวงตา จะช่วยทำให้ริ้วรอยแลดูตื้นขึ้น เรียบเนียนและยังเก็บกักน้ำไว้ บนผิวเปรียบเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงผิวจากธรรมชาติ”