ประเด็นร้อนแรง และยังถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในแวดวงการศึกษาอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ คือ “วิกฤต” ที่เกิดขึ้นใน “โรงเรียนเอกชน” ทั้งกรณีนักเรียนแห่ลาออกจากโรงเรียนเอกชนหลังเปิดภาคเรียน โรงเรียนไม่มีเงินจ้างครู บางแห่งส่อเลิก หรือยุบกิจการ และบางแห่งถึงขั้นปิดกิจการไปแล้ว
ซึ่งเกิดจากประชากรเด็กวัยเรียนลดลง และโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดรับนักเรียนอีก แม้ว่าจะเปิดภาคเรียนที่ 1/2561 แล้วก็ตาม
วิฤกตเหล่านี้ส่งผลให้ ดร.โด่ง หรือ ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องขอความช่วยเหลือไปยังผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
โอกาสนี้ “มติชน” เลยขอมาจับเข่าคุยกับ ดร.โด่ง ถึงวิกฤตที่เกิดขึ้น และข้อเสนอในการแก้ไขปัญหา
ปัญหาของโรงเรียนเอกชนในภาพรวม?
“การศึกษาเอกชนมีประวัติยาวนาน เริ่มตั้งแต่มี พ.ร.บ.โรงเรียนราษฎร์ พ.ศ.2461 ปัจจุบันเป็นเวลา 100 ปีแล้ว ในอดีต การศึกษาเอกชนช่วยการจัดการศึกษาของภาครัฐอย่างมาก ปัจจุบันรูปแบบโรงเรียนเอกชนเปลี่ยนแปลงไปมาก มีหลายรูปแบบ หลายประเภท ได้แก่ 1.โรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษา เปิดตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาล 3 ขวบ ถึงชั้น ม.6 2.โรงเรียนเอกชนการกุศล รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล 100% และ 3.โรงเรียนเอกชนนานาชาติ
ปัญหาที่โรงเรียนเอกชนพบในปัจจุบัน คือปัญหาความเท่าเทียมกัน พบว่านักเรียนเอกชนไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐอย่างเท่าเทียม เช่น เงินอุดหนุนอาหารกลางวัน ที่ปัจจุบันนักเรียนเอกชนไม่ได้รับเงินอุดหนุนครบทุกคน ได้เพียง 28% เท่านั้น คือ 100 คน ได้รับเงินอุดหนุนเพียง 28 คน เรื่องเงินอุดหนุนการศึกษาที่นักเรียนโรงเรียนเอกชนไม่ได้รับเงินอุดหนุนเท่าเทียมกับนักเรียนโรงเรียนรัฐ อีกทั้งสวัสดิการครูที่ครูโรงเรียนเอกชนมีสิทธิและสวัสดิการต่ำกว่าครูของรัฐ
และการรับนักเรียนที่ซ้ำซ้อน เช่น การรับเด็กอนุบาล 3 ขวบ ที่ทับซ้อนกันระหว่างโรงเรียนเอกชน โรงเรียนรัฐสังกัด สพฐ.และศูนย์เด็กเล็กในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) การขยายตัวการเปิดห้องเรียนของภาครัฐ ตามนโยบายของ สพฐ.ที่ขยายอัตราการรับมากกว่า 40 คน ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน”
ปัญหาในปัจจุบันแตกต่างจากอดีตอย่างไร?
“ในอดีตการศึกษาภาครัฐไม่ได้เข้มแข็งมากนัก เพิ่งมาเข้มแข็งหลังการปฏิรูปการศึกษาเมื่อปี 2542 ครูได้รับเงินวิทยฐานะมากขึ้น ทำให้ครูเอกชนไหลไปทำงานภาครัฐมากขึ้น ทำให้เราต้องปั้นครูใหม่ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือรัฐจัดสรรเงินอุดหนุนค่าหัวลงสู่เด็กโดยตรง โรงเรียนไหนมีเด็กมาก ได้รับเงินมาก ทำให้โรงเรียนรัฐมุ่งรับเด็กเข้าเรียนมากขึ้น ผลกระทบคือเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนน้อยลง เพราะเด็กและผู้ปกครองเลือกโรงเรียนที่มีชื่อเสียงของรัฐไปหมด
ปัจจุบันโรงเรียนเอกชนเจอปัญหาทั้งแย่งเด็ก แย่งครู ยิ่งใกล้สอบบรรจุครูผู้ช่วยในเดือนสิงหาคม จะมีครูลาออกเพิ่มขึ้นแน่นอน เมื่อครูลาออกไป ไม่มีคนสอนเด็ก ต้องรับเพิ่ม จึงอยากให้ ศธ.ช่วย เช่น ครูโรงเรียนเอกชนต้องใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู มีวิทยฐานะ สวัสดิการ เท่าเทียมกับครูโรงเรียนรัฐ หากเท่าเทียมไม่ได้ขอเพียง 1 ใน 3 เป็นต้น ตอนนี้โรงเรียนเอกชน ครูไม่มีวิทยฐานะ รวมถึงสวัสดิการค่ารักษาพยาบาทที่ครูมีสิทธิใช้ค่ารักษาพยาบาลในวงเงิน 1 แสนบาท ถ้าเกินกว่านี้เบิกไม่ได้ ถ้าเป็นหน่วยงานอื่นจะได้ประกันสังคม หรือบัตรทอง ซึ่งเบิกเกินได้ ตรงนี้เป็นปัญหาที่ทำให้ครูไม่อยากอยู่ในโรงเรียนเอกชน”
ได้พูดคุยปัญหากับผู้บริหาร ศธ.อย่างไร?
“ส.ปส.กช.ร่วมกับสมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ให้ช่วยเหลือโรงเรียนเอกชน และขอเข้าพบ พล.อ.อ.ประจิน ตัวแทนเราบอกเล่าปัญหา รองนายกฯรับฟัง และสั่งการให้ ส.ปส.กช.รีบทำข้อมูลนักเรียนที่ค้างค่าธรรมเนียมการเรียน เพราะผู้ปกครองไม่มีกำลังจ่าย โรงเรียนก็รับภาระแทน ส.ปส.กช.จึงรีบจัดข้อมูลเตรียมส่งไปยังกองทุนความเสมอภาคทางการศึกษาที่ พล.อ.อ.ประจินเป็นประธานอยู่ ให้ช่วยเหลือเรื่องนี้
นอกจากนี้ หนังสือขอความอนุเคราะห์เล่มนี้ได้เสนอต่อ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ทั้งยังมีโอกาสเข้าไปพูดคุยชี้แจงปัญหาทั้งหมดให้ นพ.ธีระเกียรติรับฟัง และรับจะช่วยเหลืออย่างเต็มที่
เราเข้าใจว่ารัฐบาลมีงบจำกัด ต้องใช้เวลาแก้ไขปัญหา และมีข้อจำกัดด้านการดำเนินการ เพราะหลายอย่าง ศธ.ไม่สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้ ต้องผ่านหลายขั้นตอน เช่น งบ ต้องทำเรื่องขออนุมัติผ่านสำนักงบประมาณ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผมเข้าใจว่ามีอุปสรรคมาก แต่ปัญหาบางอย่างหากช้าไปอาจจะไม่ทันการ”
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มีส่วนช่วยอย่างไร?
“มีส่วนช่วยมาก ไม่ว่าจะเป็นเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) คนก่อน นายพะโยม ชิณวงศ์ หรือคนปัจจุบัน นายชลำ อรรถธรรม ที่ปฏิบัติรักษาการเลขาธิการ กช.ให้ความช่วยเหลือเต็มที่ ท่านรับฟัง และเชิญพวกเรามาประชุม ตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือ ติดต่อประสานงานระหว่างโรงเรียนเอกชนกับ ศธ.ได้ดีมาก รวมถึง นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ.ก็ส่งเสริมการศึกษาเอกชน เช่นเดียวกับ นพ.ธีระเกียรติ ที่ให้ข้อคิดเห็นว่าการศึกษาเอกชนเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้”
ได้รับความช่วยเหลือจาก ศธ.อย่างไรบ้าง?
“ตั้งแต่ นพ.ธีระเกียรติเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.มา 2 ปี ได้ช่วยเหลือหลายเรื่อง เช่น เพิ่มเงินเดือนครูโดยผ่านการจ่ายเงินอุดหนุนรายหัวของนักเรียนโรงเรียนเอกชน โรงเรียนระดับชั้นอนุบาล และประถมศึกษา ได้รับอุดหนุนเพิ่มหัวละ 360 บาทต่อคนต่อปี เฉลี่ยวันละ 1 บาท และโรงเรียนระดับมัธยมต้นถึงมัธยมปลาย ได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มหัวละ 450 บาทต่อคนต่อปี เฉลี่ยวันละ 1.17 บาท เพื่อนำเงินอุดหนุนเหล่านี้ไปใช้จ่ายเป็นเงินเดือนครู หลังจากนั้นยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติม กระทั่งเร็วๆ นี้ที่รัฐทำเรื่องช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนในด้านอุดหนุนอาหารกลางวัน และอุดหนุนรายหัว
ปัญหาใหญ่ที่พบในขณะนี้ คือนักเรียนค้างค่าธรรมเนียมการเรียนจำนวนมาก บางโรงเรียนจากที่ไม่มีเด็กค้างค่าเทอม กลับมียอดเงินค้างกว่าล้านบาท เพราะผู้ปกครองไม่มีเงินมาจ่าย หลายคนถามว่าแล้วทำไมเด็กไม่ไปเรียนโรงเรียนรัฐ คำตอบคือไม่เชื่อมั่นในระบบรัฐบาล เด็ก และผู้ปกครองจึงเลือกที่จะอยู่ และค้างค่าเทอมต่อไป ทำให้โรงเรียนเอกชนขาดสภาพคล่อง ถ้ามีเงินอุดหนุนจากรัฐมาช่วยเต็มที่ 100% โรงเรียนก็ไม่จำเป็นต้องเก็บค่าธรรมเนียมการเรียน เป็นการเรียนฟรีเหมือนโรงเรียนรัฐ ถือว่าแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองไปด้วย”
โรงเรียนเอกชนยังสู้โรงเรียนรัฐได้เพราะคุณภาพ?
“ใช่ครับ ฉะนั้นถ้าโรงเรียนเอกชนได้รับความช่วยเหลือเต็มที่ ทำให้ไม่ต้องเก็บค่าเทอมเหมือนโรงเรียนรัฐ ผู้ปกครองจะส่งบุตรหลานมาเรียนโรงเรียนเอกชนเพิ่มขึ้นแน่นอนว่าโรงเรียนเอกชนมีคุณภาพ เพราะครูและผู้บริหารที่ช่วยกันทุ่มเทในการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ โรงเรียนเอกชนไม่ต้องทำเรื่องจัดซื้อจัดจ้าง ไม่ต้องทำรายการอาหารกลางวัน เลยทุ่มเทให้การเรียนการสอนได้ ไม่ว่าจะเป็นผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ชั้น ป.6 โรงเรียนเอกชนก็สูงกว่าโรงเรียนรัฐ ชั้น ม.3 อยู่ในสัดส่วนเท่ากัน แต่ยอมรับว่าชั้น ม.6 ไม่สามารถสู้ได้ เพราะนักเรียนไหลไปเรียนโรงเรียนรัฐมากกว่า ถ้าไม่เอาผลโอเน็ตมาตัดสิน ผมก็มองว่าโรงเรียนเอกชนมีคุณภาพมากกว่า มีศักยภาพที่ดีกว่าโรงเรียนรัฐในบางส่วน”
สังคมไทยยังมองว่าคนที่เรียนโรงเรียนเอกชนร่ำรวย?
“อย่างที่ทราบ คนในสังคมต้องมองแน่นอนว่านักเรียนโรงเรียนเอกชนต้องรวย ผมยอมรับว่าเป็นอย่างนั้นจริง แต่เพียง 5-10% เท่านั้น เช่น โรงเรียนที่มีชื่อเสียง อย่างโรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เป็นต้น โรงเรียนเหล่านี้อยู่รอด และเลี้ยงตัวเองได้ มีชื่อเสียง ไม่จำเป็นต้องรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล
แต่อีกส่วนหนึ่งคือโรงเรียนเอกชนที่อยู่ตามต่างจังหวัด หรืออยู่ในอำเภอเล็กๆ มีจำนวนมากกว่า และไม่สามารถเก็บค่าเทอมได้มากอย่างโรงเรียนดัง มีเด็กอีกกว่า 1.6 ล้านคน ที่ต้องการเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เพราะเด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแลเทียบเท่าโรงเรียนรัฐ แต่โรงเรียนรัฐกลับไปดูแลเด็กชายขอบ ตรงนี้เป็นประเด็นที่ควรรีบแก้ไข อย่างน้อยคนที่อยู่ในประเทศไทยควรมีสิทธิ สวัสดิการเหมือนกัน โดยเฉพาะนักเรียนที่เป็นคนไทย สัญชาติไทย อย่างไรก็ตาม ถ้านักเรียนคนไหนจะสละสิทธิไม่รับเงินอุดหนุนก็ทำได้ หากโรงเรียนเอกชนเหล่านี้ได้รับการช่วยเหลือตรงนี้ จะต่อชีวิตโรงเรียนได้อีกหลายแห่ง”
ออกมาเคลื่อนไหวสะท้อนปัญหา เคยถูกห้ามหรือไม่?
“ผู้ใหญ่ก็ต่อว่ามาบ้าง บอกว่าอย่าออกมาสร้างความขัดแย้ง โอเค เราไม่พูดความขัดแย้ง ผมเห็นทุกหน่วยงานเป็นเพื่อน ไม่ว่าจะเป็น สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อปท.และทุกหน่วยงาน เป็นเพื่อนกัน ต้องทำงานร่วมกัน และรู้ว่าทุกหน่วยงานให้ความกรุณากับโรงเรียนเอกชนอย่างมาก ยืนยันว่าไม่ได้สร้างปัญหา ผมเพียงสะท้อนภาพปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้โรงเรียนเอกชนได้รับการช่วยเหลือเท่านั้น”
แนวทางที่โรงเรียนเอกชนเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยเหลือมีอะไรบ้าง?
“พวกเรามีจุดยืนร่วมกันคือเราต่อสู้เพื่อเด็กและครูในโรงเรียนเอกชนให้ได้รับความเท่าเทียมกัน ถ้ารัฐและเอกชนมีเงินอุดหนุนที่เท่ากัน หรือรัฐมาช่วยเหลือเพิ่มเงินอุดหนุนบ้าง จะไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เด็กทุกคนเรียนที่ไหนก็ได้
เมื่อพูดถึงเรื่องเงิน ถามว่าจะมีทุจริตหรือไม่ ผมมองว่าอาจจะมี แต่แค่ส่วนน้อย โรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่ดี ไม่ทุจริตแน่นอน ยอมรับว่า ส.ปส.กช.และสมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ไม่สามารถสร้างมาตรการตรวจสอบที่รัดกุมได้ แต่ผมขอให้ประธาน ส.ปส.กช.ทุกจังหวัด และนายกสมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย เข้าไปพูดคุย ตรวจสอบ และเตือนแต่ละโรงเรียนว่าต้องทำตามระเบียบ ตามกฎที่ ศธ.วางไว้”
อีก 10 ปีข้างหน้า โรงเรียนเอกชนจะเป็นอย่างไร?
“ไม่ต้องถึง 10 ปี ให้ผมมองภาพอีก 5 ปีข้างหน้า โลกเราตอนนี้เปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ประชากรเกิดน้อย และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในอนาคตทุกคนเรียนได้ทุกที่ โรงเรียนเอกชนต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้อยู่รอดให้ได้ คือต้องเปลี่ยนบทบาทโรงเรียนใหม่ ต้องไม่ใช่แค่สถานที่เรียนอย่างเดียว ต้องเป็นสถานที่ที่เด็กเข้ามาแล้วมีความสุข ได้ความรู้ เป็นสถานที่ที่เด็กอยากเข้าเรียน”
ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือ จะเดินหน้าอย่างไรต่อไป?
“ถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือ โรงเรียนเอกชนจะไม่ทำตัวเป็นเด็ก ประท้วง เพื่อเรียกร้องในสิ่งที่อยากได้ เราเป็นผู้ใหญ่ มีวิธีที่ดีกว่านั้น การดำเนินการขั้นต่อไปคงต้องขอพบนายกฯ รองนายกฯ และ นพ.ธีระเกียรติ เพื่อขอคำยืนยันจากท่านอีกครั้งว่าจะช่วยเหลืออย่างไร คิดว่าท่านคงเห็นใจให้ความช่วยเหลือ
ท้ายสุด ถ้าโรงเรียนอยู่ไม่ได้จริงๆ คงยอมแพ้ ยุบโรงเรียน และเลิกกิจการ แต่ยืนยันว่าทุกโรงเรียนพยายามจะสู้ พวกเราชาวโรงเรียนเอกชนให้กำลังใจกันและกัน มีอะไรเราสู้ไปด้วยกัน เราคิดว่าทุกคนเป็นพี่น้อง และสู้เพื่อให้โรงเรียนเอกชนพัฒนาคนในประเทศไทยในอนาคตต่อไป”
ตั้งแต่รับตำแหน่งนายก ส.ปส.กช.เจอแต่ปัญหาหนัก?
“ผมอยู่ในตำแหน่งนี้ประมาณ 2 ปีแล้ว ตั้งแต่รับตำแหน่งเจอปัญหาหลายเรื่อง แต่ผมพยายามแก้ไขปัญหาโดยใช้สันติ ประสานงานกับทุกภาคส่วน รับฟังปัญหาจากทุกฝ่าย เพื่อให้โรงเรียนช่วยเหลือกัน อีกทั้งได้รับเกียรติจาก ดร.จิระพันธุ์ พิมพ์พันธุ์ นายกสมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ให้คำปรึกษา ข้อคิด เรื่องการช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนอีกทางหนึ่งด้วย”
เครียดหรือไม่ เจอปัญหาขนาดนี้?
“ไม่ครับ ถ้าถึงเวลางานต้องเครียด ต้องจริงจัง แต่เลิกงานเราก็ผ่อนคลายอยู่กับครอบครัว”
ข้อมูล ร.ร.เอกชน
ข้อมูลโรงเรียนเอกชนเมื่อเดือนมิถุนายน 2560
มีโรงเรียนเอกชนในสังกัด สช.12,790 โรง นักเรียน 3,511,970 คน และครู 150,801 คน แบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้
1.ประเภทโรงเรียนในระบบ ประกอบด้วย ประเภทโรงเรียนสามัญศึกษา 3,894 โรง มีนักเรียน 2,180,222 คน และประเภทโรงเรียนนานาชาติ 175 โรง มีนักเรียน 50,958 คน
2.โรงเรียนนอกระบบ ประกอบด้วย หลังสูตรระยะสั้น 5,987 โรง มีนักเรียน 1,009,103 คน สถาบันศึกษาปอเนาะ 479 โรง มีนักเรียน 44,235 คน และศูนย์การศึกษาอิสลามฯ (ตาดีกา) 2,106 โรง มีนักเรียน 204,573 คน
ปัญหาและข้อเสนอให้ภาครัฐพิจารณาให้การช่วยเหลือ ดังนี้
1.สิทธิของผู้เรียนที่เป็นคนไทย ประกอบด้วย การจัดสรรงบในการดำเนินการเรื่องโครงการอาหารกลางวัน และการจัดสรรงบและทรัพยากรในการดำเนินการเรื่องการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน
2.สิทธิของครูและบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนเอกชนที่เป็นคนไทย3.ปัญหาของการบริหารโรงเรียนเอกชน ประกอบด้วย การรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 (3 ปีบริบูรณ์) และนโยบายความจุห้องเรียนของสถานศึกษาในสังกัด สพฐ.
รัฐบาลโดย ศธ.ได้วางแนวทางเพื่อช่วยเหลือแล้ว ดังนี้ 1.กองทุนอาหารกลางวันโรงเรียนเอกชน ให้ได้ 100% โดยต้องเพิ่มงบ 4,923,748,000 บาท ขณะนี้ สช.ยื่นเรื่องเสนอต่อสำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง ให้พิจารณาเห็นชอบให้เพิ่มงบ หากเห็นชอบสามารถเสนอเข้า ครม.ได้ในเดือนสิงหาคม
และ 2.เรื่องเงินอุดหนุนรายหัว ที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ตั้งคณะทำงานศึกษาหาแนวทางการอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายบุคคลระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับนักเรียนโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษา และประเภทอาชีวศึกษา เพื่อหาแนวทางและศึกษาอัตราค่าใช้จ่ายรายบุคคลที่เหมาะสมต่อไป
“…ท้ายสุด ถ้าโรงเรียนอยู่ไม่ได้จริงๆคงยอมแพ้ ยุบโรงเรียนและเลิกกิจการ แต่ยืนยันว่าทุกโรงเรียนพยายามจะสู้พวกเราชาวโรงเรียนเอกชนให้กำลังใจกันและกัน มีอะไรเราสู้ไปด้วยกันเราคิดว่าทุกคนเป็นพี่น้อง และสู้เพื่อให้โรงเรียนเอกชนพัฒนาคนในประเทศ…”