จากพื้นที่ว่างเปล่าในฟาร์มเลี้ยงสุกร หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต.เทพนคร อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ได้รับการพลิกฟื้นเป็นป่านิเวศในชุมชน บนพื้นที่กว่า 30 ไร่ ภายใต้ “โครงการสวนป่าชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร” ป่าเชิงนิเวศในฟาร์มเลี้ยงสุกรแห่งแรกของประเทศไทย โดยมี บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มอบพื้นที่ให้ใช้ดำเนินการ
ปัจจุบัน โครงการสวนป่าชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร พัฒนาสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศในฟาร์มสุกร ซึ่งวันนี้ มีน้องๆ เยาวชนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนชุมชนบ้านคณฑี เข้ามาเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ในโครงการฯ ก่อนหน้านั้น มีคณะนักศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรภาคเหนือทั้ง 13 วิทยาเขต รวม 80 คน เข้ามาเยี่ยมชมและศึกษารูปแบบการปลูกป่า
นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า โครงการสวนป่าชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร เป็นการสร้างธุรกิจฟาร์มสุกรรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นความรับผิดชอบต่อสังคมและ สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยจัดทำเป็นสวนป่านิเวศในฟาร์มสุกร และพัฒนาโครงการฯ สู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ป่านิเวศชุมชน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับชุมชน สถานศึกษาใน ท้องถิ่น และผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาและเยี่ยมชมได้ตลอดทั้งปี ช่วยเพิ่มพื้นที่ สีเขียวให้แก่ชุมชนและประเทศอย่างยั่งยืน
ด้านนายพิเชษฐ์ ใหญ่แก่นทราย ประธานหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร กล่าวว่า ความสำเร็จของโครงการฯ เกิดจากการร่วมมือของภาคีเครือข่าย นำโดยซีพีเอฟ หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร เทศบาลตำบลเทพนคร หน่วยงานและโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ รวมทั้งกรมป่าไม้ โดยเฉพาะศูนย์ขยายพันธุ์ไม้ ที่สนับสนุนกล้าไม้เกือบครึ่งที่มา ปลูกในชุมชน โดยหลังจากที่มีปรับโครงสร้างการปลูกป่าในพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2559 ต้นไม้เขียวชอุ่ม แน่นขึ้น จำนวนต้นไม้จากเดิมตั้งแต่ปี 2555 มีแค่ 3,000 ต้น ผ่านไป 6 ปี ปัจจุบันมีต้นไม้มากกว่า 18,000 ต้น และในปัจจุบันเป็น ศูนย์เรียนรู้ป่าชุมชนเชิงนิเวศเป็นแหล่งให้เด็กๆ เยาวชน ชุมชน และประชาชน มาเรียนรู้ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ที่บ้านของตัวเองได้
นอกจากนี้ ซีพีเอฟนำเทคโนโลยีคิวอาร์โค้ดมาติดตั้งตามต้นไม้ชนิดต่างๆ ในทุกต้น เพื่อให้ผู้เข้าชมได้สแกน บาร์โค้ดทำให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับพันธุ์ไม้นั้นๆ ได้อย่างเข้าใจทันที และขณะนี้ อยู่ระหว่างการพัฒนาแอพพลิเคชันควบคู่กันไปเพื่อให้การเรียนรู้ นอกห้องเรียนครอบคลุม เข้าถึง ตอบโจทย์ยุค 4.0 ได้ด้วย
โครงการฯ ประยุกต์ใช้แนวความคิดการปลูกป่านิเวศเพื่อเพิ่มโอกาสรอดของพันธุ์ไม้ ซึ่งปัจจุบันมีการแบ่ง ป่านิเวศเป็น 6 ประเภท คือ ป่านิเวศแนวป้องกัน ป่าเบญจพรรณ ป่าชายน้ำ ป่าเศรษฐกิจ ป่าเต็งรัง และป่าพันธุ์ไม้ หายาก โดยตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 – มิถุนายน 2561 มีผู้ที่เข้าเยี่ยมชม ศูนย์การเรียนรู้ 4,479 คน อาทิ คณะรัฐมนตรีว่าการสหภาพแรงงาน ประเทศพม่า คณะกรรมการบริหารคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี นักวิชาการและเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี คณะครูโรงเรียนบ้านหินลาด จังหวัดพิษณุโลก เป็นต้น ในระยะต่อไป โครงการฯจะร่วมกับสถานศึกษาในจังหวัดกำแพงเพชร อาทิ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ศึกษาดัชนีความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นแหล่งฝึกภาคสนามให้กับนักเรียนโรงเรียนในพื้นที่ เช่น โรงเรียนคณฑีพิทยาคม โรงเรียนชุมชนบ้านคณฑี เป็นต้น
“โครงการสวนป่าชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร” เป็นตัวอย่างการถอดบทเรียนสู่ความสำเร็จจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ซึ่งนอกจากผืนดินแห่งนี้จะเป็นศูนย์เรียนรู้เชิงนิเวศนอกห้องเรียนขนาดใหญ่ให้กับคนรุ่นต่อๆ ไปแล้ว ยังเป็นที่บ่มเพาะ ปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนไทยรักและตระหนักในการช่วยกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน