“ศิษย์ดี ก็ด้วยครูดี มีศรัทธา” …เป็นคำขวัญวันครูประจำปี 2561 ที่ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้มอบแด่คุณครูทั่วประเทศ เนื่องในโอกาสวันครูแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 16 ม.ค.ของทุกปี เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและยกย่องเชิดชูเหล่าผู้ที่ถูกเปรียบว่าเสมือน “เรือจ้าง” เสมือน “พ่อพิมพ์แม่พิมพ์ของชาติ” ซึ่งเป็น “ผู้ที่ทำงานปิดทองหลังพระ” ทุ่มเทแรงใจแรงกายประสิทธิ์ประสาทวิชา เพื่อ “สร้างศิษย์ให้เก่งให้ดี” ไปเป็นกำลังสำคัญของชาติทั้งนี้ อาชีพ “ครู-อาจารย์” นั้น เป็นอีกอาชีพที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญทั้งต่อบุคคล สังคม และประเทศชาติโดยรวม นอกจากนั้น ผู้ที่เป็นครูยังได้รับความเคารพยกย่องจากสังคม จึงทำให้ “ครู” เป็นอาชีพที่’สังคมมีความคาดหวังสูง” ทั้งในเรื่องของการให้ความรู้แก่บุตรหลาน รวมไปถึงในด้านจริยธรรมวิชาชีพ อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่า…การเป็นคุณครูยุคปัจจุบัน ที่ไทยกำลังจะมุ่งสู่ยุค 4.0 นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย!! เพราะต้องแบกรับความคาดหวังมากขึ้นอีก อีกทั้งยังมีการสอดส่องจากสังคมมากขึ้น ซึ่งถ้าครูท่านใดไม่ตระหนักหรือเพิกเฉยต่อหน้าที่ โอกาสเกิดกรณีไม่ดีไม่งามขึ้นก็มีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย…
ดังเช่นที่เคยเกิด “กรณีดราม่า” อยู่เนือง ๆ
จนช่วงหนึ่งมี “ปุจฉา” อื้ออึงในสังคมไทย
ถึง “จริยธรรมวิชาชีพ” ของ “คุณครู” ยุคนี้
อย่างไรก็ดี “ครูที่ดี” นั้นมีอยู่เป็นจำนวนมากมายในสังคมไทย หรือจริง ๆ แล้วคือเกือบทั้งหมดของครูไทย และ ณ ที่นี้ในวันนี้ก็มีเรื่องราวคุณครูท่านหนึ่งที่ไม่เพียงมอบความรู้ในหน้าที่ครู แต่ยังทุ่มเทหัวใจเพื่ออบรมเหล่าลูกศิษย์ให้ตระหนักถึง “ความดี-พลังแห่งการให้” ด้วยการลงมือทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง จนกลายเป็นอีกหนึ่ง ‘ครูต้นแบบหัวใจจิตอาสา”ซึ่งคุณครูท่านนี้คือ ผศ.ณัฐ แก้วสกุล คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี)
ทาง ผศ.ณัฐ ครูต้นแบบรายนี้ ได้เล่าถึงตนเองไว้ว่า…พื้นเพเป็นคน จ.นครศรีธรรมราช คุณพ่อก็เป็นข้าราชการครู ปัจจุบันเกษียณแล้ว ส่วนคุณแม่มีอาชีพค้าขาย ซึ่งตอนเด็ก ๆ คุณพ่อจะส่งท่านไปอยู่กับคุณปู่เพื่อทำนา โดยคุณพ่อจะย้ำเสมอว่า…”ถึงเป็นลูกครู แต่ก็ต้องทำนา” ทำให้ติดพื้นฐานความแข็งแกร่งในเรื่องนี้มา และเมื่อต้องเป็นหัวหน้าค่ายจิตอาสาที่ต้องไปออกค่ายพัฒนาอยู่ตามกลางป่ากลางเขา จึงไม่รู้สึกลำบากแต่อย่างใด แถมกลับชอบชีวิตแบบนี้เสียด้วยซ้ำ
คุณครูจิตอาสาคนเดิมเล่าไว้อีกว่า…ปี 2531 ได้เข้าเรียนในกรุงเทพฯ โดยเรียนระดับ ปวช. และ ปวส. ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตพระนครเหนือ ก่อนจะเรียนต่อปริญญาตรี สาขาครุศาสตร์อุตสาหการ ที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตเทเวศร์ โดยอาศัยอยู่ที่วัดลครทำ ย่านบางกอกน้อย ซึ่งหลวงตาที่ท่านได้พักอาศัยอยู่ด้วยที่วัดแห่งนี้ ก็ได้สอนทุก ๆ วันว่า…”คนเกิดก่อน ต้องช่วยคนเกิดทีหลัง” ซึ่งคำสอนนี้ก็เป็นอีกหนึ่งคำสอนที่จำฝังใจมาตลอด หลังเรียนจบในปี 2538 ก็ได้บรรจุเป็นข้าราชการครู ที่ภาควิชาครุศาสตร์อุตสาหการ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทเวศร์ จนมาถึงปี 2539 ก็ได้ย้ายมาสอนที่คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และพอถึงปี 2547 ก็ได้เริ่มออกค่ายชมรมราชมงคลอาสาพัฒนาเฉลิมพระเกียรติฯ ของมหาวิทยาลัยฯ ครั้งแรกไปที่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ซึ่งก็ได้จุดประกายทำให้อยากทำอะไรตอบแทนคืนคุณแผ่นดินมากขึ้นกว่าเดิม จึงอาสาช่วยงานชมรมเกือบทุกปี
และก็คิดว่า…สาขาที่ได้ร่ำเรียนมานั้นสามารถ นำความรู้มาทำประโยชน์ให้สังคม ได้ จึงช่วยงานค่ายของชมรมมาตลอด ซึ่งก็ยังมีข้อดีคือ…การได้กินนอนหรือร่วมทุกข์ร่วมสุขกับลูกศิษย์แบบนี้ หรือการได้ร่วมลงมือทำงานเพื่อสังคมไปพร้อม ๆ กับเด็ก ๆ แบบนี้ ทำให้เห็นตัวตนลูกศิษย์ เข้าใจในลูกศิษย์ และลูกศิษย์ก็ยังได้เห็นตัวตนของครูเช่นกัน
“ในแง่การสอน ก็จะมีประโยชน์มากด้วย เพราะการที่ได้รู้จักกัน มากขึ้น จะทำให้เด็ก ๆ รู้สึกเชื่อใจและไว้ใจเราเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้การเรียนการสอน หรือแม้แต่การปลูกฝังเรื่องอื่น ๆ ง่ายขึ้น”…คุณครูกล่าว อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่ในปัจจุบันสังคมไทยก็ได้เปลี่ยน แปลงไปมาก แม้แต่กับความเป็น “ชาวค่าย” ก็ยังเริ่มเปลี่ยนไปจาก เดิม ในจุดนี้ ทาง ผศ.ณัฐ ระบุไว้ว่า…ในอดีตนั้นคนที่อาสาเข้ามาทำงานค่ายมีเป็นจำนวนมาก แต่ช่วงหลัง ๆ มาคนจะค่อย ๆ ลดลงไป และนอกจากนี้ ด้วยความที่เด็ก ๆ ในสมัยนี้ก็มีอุปนิสัยและมีวิธีคิดที่แตกต่างไปจากเด็กสมัยก่อน ดังนั้น…
วิธีการสอนของครูก็ต้องปรับเปลี่ยนตาม…
ทั้งนี้ คุณครูจิตอาสาคนเดิมระบุไว้ต่อไปว่า…ในฐานะครู สำหรับตนเองก็มีหน้าที่เสมือนการฉีดวัคซีนให้เด็ก ๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนจะตายหรือจะรอดก็ต้องขึ้นอยู่กับแต่ละคนด้วย อย่างไรก็ดี ก็พยายามเต็มที่ ซึ่งถึงแม้ต้องทำงานหนัก ต้องเหนื่อยมากขึ้น แต่ทุก ๆ ครั้งเมื่อได้มองเห็นถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นของเหล่าลูกศิษย์ที่ได้เฝ้าอบรมสั่งสอนมา…
ในฐานะคนที่เสมือน”เรือจ้าง” หรือ “ครู” แล้ว…
รู้สึกภูมิใจและดีใจที่เห็นลูกศิษย์สามารถทำได้
“พอเราได้เห็นรอยยิ้มของพวกเขาที่ประสบความสำเร็จแล้ว ผมบอกกับตัวเองเสมอ ๆ เลยว่า.เราเลือกถูกแล้วที่มาเป็นครู”…เป็นความรู้สึกจากใจของ ผศ.ณัฐ แก้วสกุลอีกหนึ่ง “ครูต้นแบบหัวใจจิตอาสา”
ที่ไม่เพียงจะ “เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกศิษย์”
แต่ยัง “เป็นอีกต้นแบบในแวดวงครู” ด้วย.