สยามรัฐ ฉบับวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2561
เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ มอบหมายให้ พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ พร้อมคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) เดินทางไปร่วมประชุมหารือ เกี่ยวกับ การพัฒนาครูอาชีวศึกษาไทย กับ Nagaoya University of Technology ประเทศญี่ปุ่น เพื่อการพัฒนากำลังคนเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันให้เกิดพื้นที่ดังกล่าวในทุกภาคของประเทศ
โดย พล.อ.สุทัศน์ เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาและขยายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษไปทุกภูมิภาค เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้ จะมีบริษัทจากญี่ปุ่น มาตั้งฐานการผลิตอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อประกอบอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท อย่างเช่นโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี จะเป็นพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศสู่การแข่งขันในตลาดในระดับโลก และมีความพร้อมเรื่องของกำลังคนที่มีทักษะมีความเชี่ยวชาญในการผลิตดังนั้น สอศ. ซึ่งมีหน้าที่และบทบาทสำคัญ ในการผลิตและพัฒนากำลังคนตอบสนองตลาดอุตสาหกรรม จึงจำเป็นต้องแสวงหาความร่วมมือในการพัฒนาทักษะฝีมือกำลังคนจากอาชีวศึกษา ให้มีคุณภาพ มีศักยภาพในระดับที่สูงขึ้น
“สอศ.ต้องการพัฒนาผู้เรียนให้ก้าวไปสู่กำลังคนยุคใหม่ ที่มีความรู้ ความทันสมัย มีความเชี่ยวชาญสามารถออกไปปฏิบัติงานได้ทันที แต่ขณะนี้ยังขาดองค์ความรู้ด้านเทคนิคที่ทันสมัย และครูที่มีความชำนาญการในการสอนสาขา New S-Curve ซึ่งได้มีการร่วมมือกับ ศาสตราจารย์มิคามิ โยชิกิ อาจารย์ผู้ดูแลนักศึกษาแลกเปลี่ยน และทีมงานมหาวิทยาลัยนาโกยา ในการที่จะขอให้ส่งผู้เชี่ยวชาญ ไปอบรมเกี่ยวกับการเรียนการสอนหรือหลักสูตร New S-Curve เช่น ยานยนต์อัจฉริยะ หุ่นยนต์แขนกลการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ การแปรรูปอาหาร การเกษตรสมัยใหม่และพลังงานทดแทน เป็นต้น ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยนาโกยา มีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในประเทศไทยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสถาบันเทคโนโลยีปทุม วัน จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ และ มทร.ธัญบุรี ซึ่งจะ ทำให้การประสานงานง่ายขึ้น”
ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ กล่าวและว่ามหาวิทยาลัยนาโกยา ยืนยันว่ามีความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการอบรม และยังเสนอการทำวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีอีกด้วย โดยปัจจุบันวงการอุตสาหกรรม เน้นเรื่องระบบรางระบบการควบคุมเครื่องจักรกล หรือโรโบติก ในเบื้องต้นนี้ มหาวิทยาลัยนาโกยา จะไม่คิดค่าเรียนหรือค่าสอน และอยากให้มีการดำเนินการความร่วมมือในสาขาอื่นๆ ที่เปิดสอนด้วย หากความร่วมมือนี้ได้ดำเนินการต่อไป ก็จะเกิดประโยชน์แก่วงการอาชีวศึกษาไทย เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศ ที่มีเทคโนโลยีทันสมัย และองค์ความรู้ต่างๆหากครูของ สอศ.ได้รับการฝึกอบรมจากญี่ปุ่น ก็สามารถที่จะมาเป็นแม่ไก่ ในการดำเนินการสอนเพื่อนครูและนักเรียน นักศึกษาต่อไป