ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2561
กรุงเทพฯ * สถาบันอุดมศึกษาหนาวแน่ เลขาธิการสภาพัฒน์เผยนายกฯ สั่งการให้คุมงบสาขาไม่มีงานทำ และไม่ตรงความต้องการของประเทศ ต้องลดเงินทุนอุดหนุน “หมออุดม” ยังอุตส่าห์แจงอย่าตีความผิด ไม่ได้ตัดงบสาขาตกงานหรือสายสังคม ย้ำยังมีความจำเป็นอยู่ เพียงแต่หันไปเน้นสนับสนุนในสาขาเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ด้านมหา’ลัยยันรู้ว่าต้องปรับตัวอยู่แล้ว งบที่ได้จากรัฐไม่เคยพอ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 1111/393 เรื่อง ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยมีข้อความระบุว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐ กิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะ กรรมการและเลขานุการคณะ กรรมการนโยบายและพัฒนา การศึกษา ได้นำเสนอกราบเรียน นายกรัฐมนตรี ประธานคณะ กรรมการนโยบายและพัฒนา การศึกษา เพื่อทราบความเห็น เรื่องโครงการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในอุดม ศึกษาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก (ทุนพัฒนาอาจารย์) พ.ศ.2561-2580 เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในการนี้นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการเพิ่มเติม จึงใคร่ขอแจ้งข้อสั่งการท่านนายกรัฐมนตรีมาเพื่อโปรดทราบ และโปรดพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยท่านนายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการดังนี้
1.ให้ศึกษาในประเด็นการ เตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนวัยเรียน/ประถม/มัธยม ให้ได้คนที่ มีศักยภาพ ตรงความต้องการของประเทศอย่างไร ผู้ที่เข้าอุดม ศึกษา/สาขาที่ต้องการได้อย่างไร/ส่วนหนึ่งไปอาชีวะ ได้ปริญญาอย่างไร เพื่อสร้างความชัดเจนให้สังคม ประชาชน ผู้ปกครอง เข้าใจ 2.กรณีการสนับสนุนงบประมาณให้อุดมศึกษา ให้ควบคุมสาขาที่ไม่มีงานทำ/ไม่ตรงความต้องการ การลดเงินอุดหนุน หรือไม่ให้ เช่น จีน ทำเหตุผล จบมาไม่มีงานทำ แต่ต้องใช้หนี้ กยศ./ปัญหาต่อเนื่อง จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและโปรดพิจารณาดำเนินการต่อไป
ด้าน นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวว่า ตนได้เห็นหนังสือดังกล่าวแล้ว และขณะนี้หลายคนเข้าใจและไปตีความหนังสือดังกล่าวผิดว่านายกฯ ไม่ให้งบในสาขาที่ตกงานหรือสายสังคม สิ่งที่นายกฯ ย้ำมาตลอดคือ ประเทศขาดกำลังคนที่จะมาพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ดังนั้น จึงต้องการให้สถาบันอุดมศึกษาทั้งหมดไปทบทวนและปรับหลักสูตรต่างๆ ให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ตอบโจทย์ประเทศและตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของชาติ ซึ่งก็คือการผลิตบัณฑิตทางด้านเทคโนโลยี และถ้าสถาบันอุดมศึกษาผลิตคนทางด้านนี้ รัฐก็จะสนับสนุนงบเพิ่มขึ้น การที่รัฐต้องกำหนดเช่นนี้ เพราะงบของประเทศมีจำกัด ส่วนหลักสูตรไหนผลิตบัณฑิตออกมาแล้วตกงาน แสดงว่าไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ไม่ตอบโจทย์ประเทศและไม่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของชาติ จะทำให้ประเทศเสียหายมาก อย่างไรก็ตาม รัฐคงจะไปบังคับสถาบันอุดมศึกษาไม่ได้ เพียงแต่สถาบันอุดมศึกษาไหนทำตามเป้าหมายของประเทศ รัฐก็ต้องจัดงบให้ก่อน ทั้งนี้ขอย้ำว่าสายสังคมนั้นยังเป็นสาขาที่เป็นความจำเป็นอยู่ แต่ขณะนี้ประเทศขาดคนทางด้านเทคโนโลยีต้องสนับสนุนก่อน
ด้านนายประเสริฐ ปิ่นปฐม รัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโน โลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นเรื่อง ที่ดี เพราะจะทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆ คิดและปรับปรุงหลักสูตรใหม่ เพื่อรองรับกับความต้อง การของประเทศ แต่ทั้งนี้การจัด สรรงบประมาณก็ต้องดูบริบท ของมหาวิทยาลัยแต่ละกลุ่ม เพราะมหาวิทยาลัยมีความถนัด และเชี่ยวชาญแตกต่างกัน อย่าง กลุ่ม มทร. มีการรีโปรไฟล์มหา วิทยาลัยใหม่ โดยเน้นผลิตบัณฑิต เฉพาะทางรองรับในอุตสาหกรรม ต่างๆ เช่น ระบบราง ท่าอากาศ ยาน หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรม โลจิสติกส์ ไบโอเทคโน และพลังงาน เป็นต้น ดังนั้น การที่รัฐบาลจะมีนโยบาย ให้ ลดเงินอุดหนุน หรือไม่ให้ใน สาขาหลักสูตรที่ไม่มีงานทำไม่ต้อง การนั้น จะทำให้มหาวิทยาลัยปรับตัว แต่ต้องทบทวนการจัดสรรงบประมาณแก่มหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งรัฐบาลจะให้งบประมาณเพียงร้อยละ 3-7 และมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในเรื่องเงินเดือนอาจารย์ แต่ในส่วนของการ พัฒนาหลักสูตร สวัสดิการ เครื่อง มืออุปกรณ์ต่างๆ ในหลักสูตรใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ประเทศ อีกทั้งต้องมีการกำหนดชัดเจนว่าหลักสูตรหรือการพัฒนาคนจะไปในทิศทางไหน อย่างไร และมหาวิทยาลัยแต่ละกลุ่มต้องดำเนิน การอย่างไร เพื่อให้การพัฒนาบัณฑิตมีคุณภาพ รองรับกับการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง
ด้านนายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายที่ดี แต่ควรจะมีการศึกษาและพิจารณาถึงแนวทางในการอุดหนุน ลด หรือจะไม่ให้งบประมาณ เพราะขณะนี้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งก็ได้รับงบประมาณอย่างจำกัด และงบประมาณที่ได้ก็ไม่เพียงพอ ทำให้มหาวิทยาลัยต้องหาแนวทางในการหางบประมาณด้านอื่นๆ อีกทั้งขณะนี้เชื่อว่ามหาวิทยาลัยทุกกลุ่มกำลังปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาหลักสูตร เพื่อผลิตบัณฑิต ที่ตอบโจทย์กับความต้อง การกำลังของประเทศ เพราะทุกแห่งต่างรู้ว่า หากไม่ปรับตัว ก็จะอยู่ไม่ได้ นอกจากนั้น มหาวิท ยาลัยเองก็มีการสำรวจหลักสูตรต่างๆ ที่เป็นแนวโน้มของโลกอนาคต และหลักสูตรไหนที่ไม่ต้องการก็จะปิดตัวลง หรือยุบรวมกับหลักสูตรอื่นๆ เพื่อผลิตบัณฑิตออกสู่ตลาดแรงงาน มีงานทำ ไม่ตกงาน โดยไม่กระทบต่อผู้เรียนอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม การจะปรับลดเงินอุดหนุน หรือไม่ให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องพิจารณาอย่างชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร.