เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีเทคโนโลยีพระจอม เกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า กรณีที่ ทปอ.เตรียมประกาศผล และยืนยันสิทธิการคัดเลือกในระบบรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง ประจำปีการศึกษา 2561 หรือทีแคส รอบที่ 3 ซึ่งเป็นการรับตรงร่วมกันทั้งหมดของมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกของ ทปอ.วันที่ 1-3 มิถุนายนนั้น การประกาศผลเป็นไปตามกำหนดการเดิม ในส่วนของการเตรียมความพร้อมระบบเพื่อรองรับผู้เข้ามาดูการประกาศผลการคัดเลือก และยืนยันสิทธิในที่รอบนี้ ได้มอบมหายให้นายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และเลขานุการ ทปอ.เป็นผู้ดูแลเตรียมการระบบทั้งหมด คาดว่าจะไม่เกิดปัญหา หรือระบบล่มเหมือนช่วงรับสมัคร
นายสุชัชวีร์กล่าวอีกว่า กรณีจำนวนเด็กที่สอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยลดลง ทำให้สถาบันอุดมศึกษาประสบปัญหา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชน เนื่องจากจำนวนนักศึกษาลดลง ทำให้เกิดการแย่งชิงนักศึกษานั้น ปัญหา หนึ่งคือจำนวนนักเรียนที่เรียนจบชั้น ม.6 น้อยลง ซึ่งในอดีตมีนักเรียนจบชั้น ม.6 มากถึง 1 ล้านคน แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 5 แสนคน และนักเรียนเหล่านี้เข้าสู่ระบบอุดมศึกษาเพียง 3 แสนคนเท่านั้น อีกทั้งปัญหาการขยายตัวของมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนกลับมีมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับจำนวนเด็กที่ลดลง
“จะมีมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหา วิทยาลัยเอกชนปิดตัว หรือควบรวมกิจการเพื่อความอยู่รอดหรือไม่ ยังไม่ได้รับข้อมูล แต่เป็นไปได้เมื่อจำนวนนักเรียนลดลง มหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งอาจต้องปิดตัว ซึ่งไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัยเอกชนที่เผชิญปัญหานี้ มหาวิทยาลัยรัฐก็เผชิญปัญหานี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทปอ.จะรวบรวมข้อมูลการเลือกเรียนคณะ หรือสาขาที่มีผู้สนใจ ส่งให้มหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน เพื่อปรับปรุงหลักสูตรให้ตรงความต้องการของผู้เรียน” นายสุชัชวีร์กล่าว
นายประเสริฐกล่าวว่า การเตรียมความพร้อมการประกาศผลระบบทีแคสรอบที่ 3 คาดว่าไม่มีปัญหา เพราะเตรียมแผนรองรับดีที่สุดแล้ว โดยดูจากข้อบกพร่องของทีแคสรอบที่ 2 และนำมาแก้ไข อีกทั้งมีผู้ยืนยันการสมัครทีแคสรอบที่ 3 ประมาณ 110,000 คน ใกล้เคียงกับรอบที่ 2
“ขอให้นักเรียนมั่นใจระบบที่ ทปอ.จัดเตรียมไว้ และไม่จำเป็นต้องเข้าระบบมายืนยันสิทธิพร้อมกัน เพราะผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยได้ จะมีสิทธิในมหาวิทยาลัยนั้นอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องรีบเข้ามายืนยันสิทธิตั้งแต่วันแรก เพราะ ทปอ.เปิดให้ยืนยันสิทธิถึงวันที่ 3 มิถุนายน” นายประเสริฐกล่าว
นายพรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหา วิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ปัญหานักศึกษาลดลงเป็นเรื่องจริง อย่างมหาวิทยาลัยสยามมีนักศึกษาน้อยลงในบางคณะ เช่น คณะสังคมศาสตร์ แต่สายวิทยาศาสตร์ยังมีนักศึกษา มาเข้าเรียนพอสมควร วิธีที่ทำให้มหาวิทยาลัยเอกชนอยู่รอดได้คือการปรับหลักสูตรให้ทันสมัย หรือจะเพิ่มคุณค่าหลักสูตรอย่างไร เพราะนักศึกษาต้องการเรียนหลักสูตรที่แตกต่างกัน ดังนั้น จะปรับเพื่อสนองความต้องการเหล่านี้อย่างไร และทำให้มหาวิทยาลัยเป็นที่ต้องการของนักศึกษาอย่างไร เป็นโจทย์ที่มหาวิทยาลัยเอกชนต้องหาทางออก หากปรับตัวไม่ได้ ก็มีแนวโน้มสูงว่ามหาวิทยาลัยเอกชนต้องปิดตัวลง
“หลักสูตรที่เป็นความต้องการในปัจจุบัน หรือเป็นความต้องการของนักศึกษา เช่น หลักสูตรเกี่ยวข้องกับสาธารณสุข หลักสูตรนานาชาติ หรือด้านภาษาต่างๆ ซึ่งมหาวิทยาลัยสยามปรับหลักสูตรเพื่อให้อยู่รอด และตอบสนองความต้องการของนักศึกษา โดยสร้างหลักสูตรให้ทันสมัย จับมือกับสถานประกอบการสร้างอาชีพให้นักศึกษา พัฒนาหลักสูตรสู่ระดับนานาชาติ ให้อิสระกับนักศึกษาในการเลือกเรียน เป็นต้น” นายพรชัยกล่าว
นายภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเอกชนอยู่ยากขึ้น เนื่องจากนักเรียนน้อยลง ปัจจุบันมีนักเรียนจบชั้น ม.6 ประมาณ 6 แสนคน ปัญหาต่อมาคือเด็กจะเลือกเข้าเรียนมหาวิทยาลัยรัฐก่อน ถ้าไม่ได้จึงจะเลือกมหาวิทยาลัยเอกชน ไม่เพียงแต่มหาวิทยาลัยรัฐที่แย่งนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเอกชนเท่านั้น แม้แต่สถาบันการอาชีวศึกษาที่เปิดหลักสูตรปริญญาตรี ก็แย่งนักศึกษาเช่นกัน ทำให้มหาวิทยาลัยเอกชนต้องปรับตัว โดยเปิดสอนหลักสูตรต่อเนื่อง และมหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งมีสถานศึกษาอาชีวะอยู่ในนั้น เช่น มหาวิทยาลัยสยาม ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นเท่านั้น
“ในมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำของประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยหอการค้า กลับไม่ใช่ตัวเลือกแรกของนักเรียน ส่วนมหาวิทยาลัยเอกชนระดับจังหวัดต้องสู้กับตลาดของมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) แต่ก็สู้ยาก เพราะเอกชนจะเสียเปรียบเรื่องค่าเทอมที่แพงกว่า จึงเป็นไปได้สูงว่าเอกชนบางแห่งอาจปิดหรือขายกิจการ เท่าที่ทราบเริ่มมีบ้างแล้วที่ปิดกิจการ ซึ่งมหาวิทยาลัยเอกชนเหล่านี้ต้องหาทางออกกันเอง เพราะสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) คงไม่ช่วยแก้ไขปัญหา เพราะขณะนี้มีมหาวิทยาลัยเอกชนมากเกินไป ทั้งยังไม่สามารถควบคุม ดูแลให้หลักสูตรได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยรัฐเองก็ประสบปัญหานักศึกษาลดเช่นกัน ไม่มีใครหรือหน่วยงานใดเสนอว่าควรแก้ปัญหาอย่างไร เพราะไม่รู้จะช่วยอย่างไรมากกว่า” นายภาวิชกล่าว