ไทยรัฐ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2561
ฟุตบอลหญิงราชมงคลธัญบุรีเกมส์ ยิงกันมโหฬาร วิทยาลัยบัณฑิตเอเชียแชมป์เก่า 8 สมัยยิงถล่มมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย 17-0 ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศ พบ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ส่วนสถาบันการพลศึกษา(สพล.)ถล่มมรภ.สุรินทร์ 18-0 เข้าไปตัดเชือกเจอ ม.เกษตรศาสตร์ ขณะที่ทีมเทเบิลเทนนิส ม.รัตนบัณฑิต เบิ้ลเหรียญทองทีมชายและทีมหญิง ด้านก.ก.ม.ท. เล็งลดชนิดกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย เหตุปัจจุบันแข่งขันกันมากเกินไป
การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยครั้งที่45 “ราชมงคลธัญบุรีเกมส์” ที่ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี(มทร.ธัญบุรี)เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา ไฮไลต์อยู่ที่ฟุตบอลหญิง วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย แชมป์เก่า 8 สมัย ยิงถล่มมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย 17-0 ในรอบก่อนรองชนะเลิศ โดยได้ประตูจากจิราภรณ์ มงคลดี คนเดียว 6 ลูก ผ่านเข้ารอบ 8 ทีม พบม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ที่ชนะ มรภ.บุรีรัมย์ 7-1 ส่วนสถาบันการพลศึกษา(สพล.)ถล่มมรภ.สุรินทร์ 18-0 เข้ารอบตัดเชือก พบ ม.เกษตรศาสตร์ ที่ยิงชนะม.อุบลราชธานี ไป 11-0 ในรอบก่อนรองฯ ขณะที่ฟุตบอลชายรอบก่อนรองชนะเลิศ ม.นอร์ทกรุงเทพชนะจุดโทษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4-2 หลังเสมอ ในเวลา 1-1 ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศได้เป็นทีมแรก
ส่วนผลกีฬาอื่นๆที่น่าสนใจ(เฉพาะเหรียญทอง)เทเบิลเทนนิสทีมชาย ม.รัตนบัณฑิต ชนะ ม.ธนบุรี 3-1 คู่ทีมหญิ งม.รัตนบัณฑิต ชนะ ม.กรุงเทพธนบุรี 3-2 คู่, ยิงปืน ปืนสั้นมาตรฐาน บุคคลชาย วรพจน์ ศิริรัตน์(ม.กรุงเทพ) 559 คะแนนทีมชาย ม.กรุงเทพธนบุรี(เจตกานต์ จอกแก้ว, ศุภณัฐ ศรีจันทร์เฟื้อ, ชีรณัฐ คล้ายสุบรรณ, ภานุ สุธีรศักดิ์) 1,575 คะแนน ปืนยาวอัดลมบุคคลหญิง ศุภลักษณ์ พิมพ์พันธุ์ (ม.กรุงเทพธนบุรี)ทีมหญิงม.กรุงเทพธนบุรี(สิริวิจิตร คงนิล, สิริณี สายสนิท, ศุภลักษณ์ พิมพ์พันธุ์, ทิพย์สุดา พิสุทธิพันธุ์) 1,220.9 คะแนน
ดร.วิชิต คนึงสุขเกษม ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายพัฒนากีฬาเพื่อความเป็นเลิศ ในคณะกรรมการบริหารกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย(ก.ก.ม.ท.)กล่าวถึงการจัดการแข่งขันราชมงคลธัญบุรีเกมส์ว่าครั้งนี้ยังพบว่ามีปัญหาอยู่หลายปัญหา ทั้งเรื่องของสูจิบัตรที่รายละเอียดตกหล่นหลายจุดการประสานงานของเจ้าภาพกับสถาบันอื่นๆ ยังถือว่ามีช่องว่างอยู่มากทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนเช่นเดียวกับการรายงานผลการแข่งขันที่ล่าช้า ไม่ครบถ้วน
“จำนวนชนิดกีฬาที่บรรจุในกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยในหลายปีหลัง จำนวนมากกว่า 40 ชนิดกีฬาขึ้นไปเมื่อพิจารณาแล้วถือว่ามากเกินไปดังนั้นก็จะมีการกลับมาหารือกันใหม่ว่าควรจะให้มีการบรรจุกีฬาที่พอเหมาะและเป็นกีฬาที่มีนักศึกษามีชมรมกีฬาในแต่ละมหาวิทยาลัยอยู่แล้วเพื่อไม่ให้มีจำนวนแข่งที่มากเกินไป และทำให้ขาดความน่าสนใจและขาดบรรยากาศความเป็นกีฬามหาวิทยาลัยไปส่วนตัวคิดว่าควรจะจัดที่ 24-28 ชนิดกีฬาก็เพียงพอแล้ว” ดร.วิชิตกล่าว