ไทยรัฐ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561
ทัพนักกีฬาจุฬาฯไม่ซีเรียสหากจะต้องจบอันดับ 3 ในกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 45 ส่วนทีมรักบี้ฟุตบอล 7 คนชาย ม.ธรรมศาสตร์ป้องกันแชมป์ในราชมงคลธัญบุรีเกมส์ได้สำเร็จหลังเอาชนะ ม.กรุงเทพ 12-5 จุด ขณะที่ทีมหญิง สพล. ชนะ ม.กรุงเทพ 12-5 จุด ได้เหรียญทอง
การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 45 “ราชมงคลธัญบุรีเกมส์” ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ไฮไลต์อยู่ที่รักบี้ฟุตบอล 7 คน ทีมชายรอบชิงชนะเลิศ “แชมป์เก่า” ม.ธรรมศาสตร์ พบ ม.กรุงเทพ ซึ่งเป็นนัดล้างตาของ ม.กรุงเทพ หลังจากเคยแพ้มาในรอบรองชนะเลิศปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามลูกแม่โดม ยังโชว์ฟอร์มแข็งแกร่งเอาชนะไป 12-5 จุด คว้าแชมป์ 2 สมัยติดต่อกัน ด้านทีมหญิง สถาบันการพลศึกษา (สพล.) ชนะ ม.กรุงเทพ 12-5 จุดทำให้ ม.กรุงเทพ อกหักได้รองแชมป์ทั้งชายและหญิงขณะที่ซอฟต์บอล ทีมหญิง รอบชิงชนะเลิศ ม.ธรรมศาสตร์ ชนะจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 9-2
ส่วนนักมวยไทยหญิงจาก สพล. เข้าชิงชนะเลิศ 3 จาก 5 รุ่นเก็บ 2 เหรียญทอง เท่า ม.กรุงเทพธนบุรี สรุปผลรอบชิงชนะเลิศ ดังนี้รุ่น 48 กก.หญิง วิสุดา สุขเจือ (สพล.) ชนะอาร์เอสซี ยก 1 จิรายุ ปานมณี (ม.เกษมบัณฑิต) รุ่น 51 กก.หญิง กรรณิกา บางนรา (ม.กรุงเทพธนบุรี) ชนะคะแนน เจนจิรา แซ่เตียว (มรภ.สุราษฎร์ธานี) 30-27 อาทิตยา สายสิญจน์ (ม.ธรรมศาสตร์) ชนะคะแนน ปานเนตร แก้วภมร (ม.มหาสารคาม) 30-27 อารียา สาโหด (ม.กรุงเทพธนบุรี) ชนะคะแนน ประกาย รัตน์วงสุธา (สพล.) 20-18 เกศินี ทับไทร (สพล.) ชนะอาร์เอสซี ยก 1 พัชริดา ทั่งทอง (ม.มหาสารคาม)
ด้าน ศ.บัณฑิตเอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของราชมงคลธัญบุรีเกมส์แล้ว ถือว่าผลงานของทัพนักกีฬาจามจุรีอาจจะไม่เป็นไปตามเป้านัก แต่เป็นเรื่องปกติของกีฬาที่มีแพ้มีชน ซึ่งก่อนการแข่งขันมีโอกาสที่จะกลับมาทวงเจ้าเหรียญทองได้ แต่ตอนนี้อาจจะตกไปเป็นอันดับ 3 เป็นรอง สพล. และ ม.กรุงเทพธนบุรี ซึ่งส่วนตัวไม่ได้มองเป็นเรื่องเสียหายอะไร เนื่องจากการแข่งขันกีฬาปัญญาชนไม่จำเป็นว่าสถาบันใดสถาบันหนึ่งจะต้องผูกขาดเจ้าเหรียญทองเพราะผลการแข่งขันและการเป็นเจ้าเหรียญทองนั้นถ้ามีการเปลี่ยนให้สถาบันอื่นได้ขึ้นมาบ้างก็เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาคุณภาพและการให้ความสำคัญในด้านกีฬาของแต่ละสถาบัน หากวนอยู่แต่มหาวิทยาลัยเดิมๆ ก็อาจจะทำให้ไม่มีสีสันและเป็นการผูกขาดเกินไป
“อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเรื่องการดึงนักกีฬาเก่งๆ ไปร่วมสถาบันนั้นๆ ก็คิดว่าไม่ใช่เรื่องเสียหายหากสถาบันนั้นให้ความสำคัญและสนใจการพัฒนานักกีฬาจริงๆ แม้จะดึงคนเก่งและมีการบริหารจัดการที่ดีนักกีฬาก็ได้มีที่เรียนและยังได้ฝึกซ้อมและพัฒนาศักยภาพที่ดีอย่างต่อเนื่อง” ศ.บัณฑิตกล่าว