สยามรัฐ ฉบับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
edusiamrath@gmail.com
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นายกสภาวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ มาทรงเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา และสถาบันเทคโนโลยี2 กลุ่ม 6 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) พระนคร มทร.ธัญบุรีและ มทร.กรุงเทพ มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตรองรับตลาดแรงงานยุค ไทยแลนด์ 4.0
รศ.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญของวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดาในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ผ่านการสร้างเครือข่ายกับสถาบันการศึกษา ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีทั้ง 6 แห่ง ซึ่งทุกสถาบันที่ทำความร่วมมือ
นั้นมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี มีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ที่ชัดเจน บุคลากรของแต่ละสถาบันก็มีความสามารถทางด้านวิชาการอย่างโดดเด่นอีกทั้งยังมุ่งเน้นในการสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติ ประกอบกับแต่ละสถาบันก็มีความร่วมมือกับวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา และโรงเรียนจิตรลดา (สายวิชาชีพ)มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง จึงมั่นใจว่าเราได้พี่เลี้ยงและเพื่อนร่วมงานที่ดีและมีประสิทธิภาพ
“ความร่วมมือนี้เป็นแบบทวิภาคีและพหุภาคี หลักใหญ่คือการปรับแนวทางการเรียนการสอน เพื่อให้ได้บัณฑิตนักปฏิบัติ ที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานด้านอาหารและเทคโนโลยี ครอบคลุมหลักสูตรการเรียนการสอน การวิจัยและพัฒนา ที่จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนการทำวิจัยระหว่างสถาบัน การบริการทางด้านวิชาการและวิชาชีพแก่สังคม รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรและนักศึกษา เช่น หลักสูตรใหม่ของวิทยาลัยฯ ขานรับนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม เราจึงเริ่มหลักสูตรสมองกลฝังตัว (Embedded Systems)ระดับ ปวช.ปีการศึกษา 2561 และต่อยอดถึงระดับ ปวส. และปริญญาตรี โดยได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์ของกลุ่มเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ทั้ง 3 แห่ง ในการเข้ามาวางแผนหลักสูตร ไปจนถึงการจัดการเรียนการสอน”
รศ.คุณหญิงสุมณฑา กล่าวและว่า หัวใจหลักคือการให้นักเรียน นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง เพราะปัจจุบันการเรียนจากตำราเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องให้เด็กๆ มีความคุ้นเคยกับสถานประกอบการเพื่อให้เรียนรู้โลกของการทำงานจริง เพื่อเป็นการปรับนักเรียนนักศึกษาให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ และอีกประการที่สำคัญคือนักศึกษาจะต้องสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมได้ การที่จะให้นโยบายรัฐบาลประสบผลสำเร็จต้องเริ่มจากการสร้างคน และต้องเป็นคนที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เราก็ทำภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของวิทยาลัย “เรียนคู่งาน-งานคู่เรียน”
สำหรับวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดาเป็นวิทยาลัยขนาดเล็ก มีจุดเน้นอย่างชัดเจนด้านบริหารธุรกิจ มุ่งเน้นด้านการจัดการธุรกิจอาหาร อุตสาหกรรมอาหาร ขณะที่สายเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เน้นหนักทางด้านไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ระบบอัตโนมัติ และสมองกลฝังตัว เป้าหมายหลักของวิทยาลัยฯมุ่งสร้างกำลังคนที่มีทักษะการทำงาน และมีทักษะชีวิต ดั่งคำขวัญวิทยาลัยฯ ที่ว่า รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีวินัย ใฝ่คุณธรรม นำความรู้ สู้งานหนัก
“เริ่มหลักสูตรสมองกลฝังตัว ระดับ ปวช.ปีการศึกษา 2561 และต่อยอดถึงระดับ ปวส.และปริญญาตรี”