นักศึกษา จากภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ทดลอง-ศึกษาเก็บรักษาบล็อกโคลี่ในสภาพดัดแปลงบรรยากาศสามารถเก็บรักษาได้ถึง18 วัน ซึ่งได้รับการเปิดเผยจาก นางสาววราภรณ์ น้ำคำ และนางสาวพรนิภา ตรีโพลา เจ้าของผลงานว่าเหตุที่พวกตนเลือกที่จะศึกษาการเก็บรักษาบล็อกโคลี่ก็เพราะ ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เรามีผลิตผลที่ต้องเก็บเกี่ยว ทั้งเพื่อบริโภคเองในประเทศและส่งออกต่างประเทศ ในบางครั้งผลิตในฤดูกาลออกมามาก ราคาก็ตกต่ำ ในทางตรงกันข้ามช่วงนอกฤดูกาล เรากลับต้องนำเข้าจากต่างประเทศ หนำซ้ำในการนำเข้าแต่ละครั้งก็ต้องนำเข้าครั้งละมากๆ ทำให้ต้องมีการเก็บรักษาให้มีอายุนานขึ้น จากจุดนี้เองที่ทำให้เราสนใจศึกษา การเก็บรักษาผลผลิตในสภาพดัดแปลงบรรยากาศ และในที่นี้เราเลือกศึกษา การเก็บรักษาบล็อกโคลี
ทำไมถึงได้เลือกศึกษา บล็อกโคลี่? เจ้าของผลงานบอกว่า เพราะบล็อกโคลีเป็นผักที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมาก ในช่วงของฤดูกาลจะมีบล็อกโคลีออกมาสู่ตลาดจำนวนมาก ในขณะที่เป็นช่วงนอกฤดูกาล ประเทศไทยก็ต้องนำเข้าเช่นกัน ดังนั้นเพื่อลดการสูญเสียคุณภาพเนื่องจากต้องเก็บไว้นาน การเก็บรักษาในสภาพดัดแปลงบรรยากาศจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำได้ง่ายและต้นทุนต่ำ เราจึงเลือกมุ่งเน้นศึกษาการเก็บรักษาด้วยวิธีดังกล่าวเพื่อเป็นแนวทางในการนำไปใช้จริงในเชิงการค้าต่อไป
โดยปกติ ในการเก็บรักษาในสภาพดัดแปลงบรรยากาศจะใช้วิธีลดปริมาณก๊าซออกวิเจนให้ต่ำลงและเพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ให้สูงขึ้นเพื่อลดอัตราการหายใจและการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีของบล็อกโคลี่ โดยส่วนมากการเก็บรักษาในสภาพดัดแปลงบรรยากาศจะทำร่วมกับการใช้ อุณหภูมิต่ำและความชื้นสัมพัทธ์สูง ซึ่งสามารถช่วยลดอัตราการสูญเสียได้มากขึ้น และในการศึกษาครั้งนี้ ได้ทำการทดลองเก็บรักษาบล็อกโคลีในสภาพดัดแปลงบรรยากาศโดยการบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณเริ่มต้นที่8เปอร์เซ็นต์ เก็บไว้ในอุณหภูมิที่ 2 องสาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80 เปอร์เซ็นต์
จากการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการเก็บรักษาบล็อกโคลีในสภาพอากาศปกติกับสภาพดัดแปลงบรรยากาศแล้วพบว่า ในสภาพบรรยากาศปกติบล็อกโคลีมีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนัก40.29 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่การเก็บรักษาในสภาพดัดแปลงบรรยากาศมีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนัก แค่ 4.66 เปอร์เซ็นต์และอายุการเก็บรักษาสำหรับสภาพอากาศปกติเพียง4.1 วัน ส่วนในสภาพดัดแปลงบรรยากาศมีอายุการเก็บรักษาถึง 18 วันนอกจากนั้นในสภาพอากาศปกติเปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักสดเท่ากับ 61.42 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในสภาพดัดแปลงบรรยากาศมีเปอร์เซ็นต์น้ำหนักสดถึง 95 เปอร์เซ็นต์
ท้ายที่สุด ผู้วิจัยกล่าวว่า จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่สุดถ้าหากผลงานวิจัยของพวกเขาจะสามารถนำไปให้ใช้เป็นแนวทางและเป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วไป ดังนั้นสำหรับผู้ใดที่สนใจ ต้องการนำเอาผลงานวิจัยดังกล่าวไปศึกษาและพัฒนาการเก็บรักษาผลผลิตทางด้านการเกษตรและอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติม ก็สามารถติดต่อ ปรึกษาไปได้ที่ อ.วรินธร ยิ้มย่อง ท่านเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการดังกล่าว ที่หมายเลข 081-851-3382
เรียบเรียงโดย : มณีรัตน์ ปัญญพงษ์ กองประชาสัมพันธ์ราชมงคลธัญบุรี