ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) นำร่องได้เปิดโครงการกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวน 84 ชุด พร้อมรณรงค์ให้หน่วยงานต่างๆ หันมาให้พลังงานทดแทนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เตรียมพร้อมก้าวสู่การเป็นท่าเรือสีเขียวที่เป็นศูนย์กลางในการขนส่งสินค้าทางทะเลรับ AEC พร้อมกับเปิดประตูตรวจสอบสินค้าที่ 4 ที่ท่าเรือแหลมฉบังด้วย
โครงการกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2555 โดยการจัดหาพร้อมติดตั้งกังหันลมกระแสไฟฟ้าขนาด 10 กิโลวัตต์ จำนวน 94 ชุดบริเวณโดยรอบท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเป็นพลังงานทางเลือกหมุนเวียนที่มีศักยภาพและเหมาะสมสอดคล้องกับนโยบายท่าเรือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Port)ซึ่งจะเป็นพลังงานทางเลือกจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีศักยภาพและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ของท่าเรือแหลมฉบัง เช่นพลังงานลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์มาช่วยเสริมระบบพลังานไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นการเพิ่มสัดส่วนของการใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้น
สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมและยกระดับการให้บริการ โดยเน้นให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมุ่งเน้นการดำเนินการต่างๆ ในเชิงอนุรักษ์ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศ และของโลกโดยรวมอย่างยั่งยืน
เรือเอกสุทธินันท์ หัตถวงษ์ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.)เปิดเผยว่าตั้งแต่ปี 2553 ท่าเรือแหลมฉบังเป็นหน่วยงานที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าในระดับสูง โดยมีการใช้พลังงานไฟฟ้าถึง65,183 ล้านหน่วยไฟฟ้า คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 195 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตในแต่ละปีถึง 9.21% และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตามปริมาณกิจกรรมการขนส่งทางทะเล และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับท่าเรือที่เพิ่มตามการเติบโตทางเศรษฐ-กิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี2558 ที่จะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ไทยจะเป็นประเทศหลักในภูมิภาคที่จะเป็นศูนย์กลางของการขนส่งสินค้าทางทะเล จึงเป็นที่มาของการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้า จำนวน 84 ชุดอยู่บนพื้นที่ 100 ไร่ ด้วยกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวม 84 กิโลวัตต์ จะสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้15% คิดเป็นมูลค่า 40 ล้านบาทต่อปี และในอนาคตท่าเรือแหลมฉบังจะลงทุนการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าเพิ่มในเฟส 2 คาดว่าจะเปิดได้ปี 2559-2560 วงเงินลงทุนประมาณ 165 ล้านบาท
ทั้งนี้ ปริมาณกระแสไฟฟ้าจากการผลิตของกังหันครั้งนี้จะนำไปเสริมระบบพลังงานไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อาทิ ไฟส่องสว่างบริเวณถนนและพื้นที่สาธารณะประตูตรวจสอบสินค้า คลังสินค้า และอาคารสำนักงานของท่าเรือแหลมฉบังช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ด้านดร.วิรชัย โรยนรินทร์ ผู้ช่วยคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่ากังหันลมผลิตไฟฟ้าทั้ง 84 ชุด ผลิตโดยศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดยวัสดุที่นำมาผลิตครั้งนี้มาจากในประเทศเกือบทั้งหมดยกเว้นแม่เหล็กอย่างเดียวยังต้องนำเข้าเพราะติดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ โครงการนี้จึงเป็นโครงการนำร่องของศูนย์วิจัยพลังงานและเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคนที่ไม่ต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ทำให้ประเทศต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก
“กังหันลมผลิตไฟฟ้าที่ท่าเรือแหลมฉบังเป็นการต่อยอดจากการไปดูงานกังหันลมผลิตไฟฟ้าโครงการพระราชดำริช่างหัวมัน ที่มีกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 5 กิโลวัตต์ และหน่วยงานต่างๆ สามารถหันมาใช้พลังงานทางเลือกทดแทนการใช้พลังงานไฟฟ้า ช่วยลดการเกิดมลภาวะที่นับวันจะรุนแรงขึ้นทุกวัน”
ดร.วิรชัย กล่าวว่า เทคโนโลยีที่มหาวิทยาลัยฯคิดค้นขึ้นมาผลิตกังหันลมผลิตไฟฟ้าสามารถนำไปติดตั้งได้ทั่วประเทศ เพราะเหมาะกับกำลังลมในประเทศที่มีความเร็วอยู่ในระดับ 4-5 เมตรต่อวินาที แต่เทคโนโลยีจากต่างประเทศต้องใช้กับกระแสลมที่มีความเร็วระดับ 7 เมตรต่อวินาทีขึ้นไป ทำให้เกิดปัญหาต้องมีพื้นที่รองรับ เช่น บริเวณอุทยานแห่งชาติหรือพื้นที่ ส.ป.ก. โดยพื้นที่ของหน่วยงานราชการที่สามารถติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าได้ ได้แก่ พื้นที่ของทหารเรือ กรมเจ้าท่า และพื้นที่ของกองทัพอากาศ ที่มีที่ดินติดกับชายฝั่งทะเล
“ภาครัฐควรหันมาสนับสนุนพลังงานทดแทนประเภทพลังงานลมมากกว่าพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ใช้พื้นที่จำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงประเทศเกิดภาวะวิกฤติพลังงานรัฐบาลได้ปรับลดแผนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติลง แล้วหันไปให้ความสำคัญในการลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ผมมองว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะก่อสร้างแห่งใหม่ได้ ยกเว้นรัฐบาลจะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าถ่านหินจากแหล่งผลิตเดิมเท่านั้น จึงมีทางออกที่เป็นไปได้นั่นคือการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทางเลือกให้มากขึ้นเป็น 40% ในระยะ 10 ปีตามแผน PDP”ผู้ช่วยคณบดี กล่าวทิ้งท้าย