โดยปกติแล้วคนไทยนิยมนำไม้ไผ่มาทำเป็นสิ่งปลูกสร้าง นำมาผูกต่อกันเป็นแพใช้โดยสาร ฝายกั้นน้ำ บริโภคหน่อไม้ซึ่งเป็นผลผลิตจากไผ่ หรือแม้แต่นำส่วนที่สำคัญของใยไผ่หรือเปลือกด้านนอกมาประดิษฐ์เป็นใยไผ่ฟองน้ำขัดผิว หากแต่ว่าผลิตภัณฑ์ขัดผิวที่มีลักษณะเป็นเส้นใยไผ่อัดก้อน ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมักเกิดการเสียรูปทรงหลังการใช้งานและเส้นใยไผ่หลุดออกจากก้อนได้ง่าย
ด้วยเหตุนี้ อาจารย์สาคร ชลสาคร และทีมนักวิจัย จากสาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คณะเทคโนโลยี คหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จึงคิดวิธีแก้ไขปัญหาโดยใช้หลักของการผลิตผืนผ้าจากใยธรรมชาติ ด้วยการนำใยไผ่ที่รวมตัวกันแล้วปั่นให้เป็นเส้นยาวและนำมาเย็บรวมกับผ้า เพื่อช่วยเพิ่มโครงสร้างใยไผ่ให้แข็งแรงขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ใยไผ่ขัดผิวของกลุ่มเกษตรกรบ้านคลองปากกราน อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ได้นำไม้ไผ่มาขูดเอาผิวเปลือกนอกออก ผ่านการล้างทำความสะอาด ปรับสภาพเส้นใยให้นุ่ม นำมาผึ่งแดด และอัดเป็นก้อนใยไผ่ขัดผิวนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์ใยไผ่ขัดผิว เนื่องจากเปลี่ยนรูปทรงเร็วและเส้นใยไผ่หลุดออกจากก้อนใยไผ่ขัดผิวง่าย จึงเข้าไปช่วยทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ทั้งนี้โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.)
อาจารย์สาคร กล่าวว่า เส้นใยไผ่เป็นเส้นใยธรรมชาติที่ได้จากส่วนเปลือกนอกของลำต้น มีลักษณะเป็นกลุ่มเส้นใยที่มีความยาว มีความแข็งแรง และยืดหยุ่นตัวได้สูง มีพื้นผิวด้านหน้าตัดของ
เส้นใยเรียบคม การนำเส้นใยไผ่มาขัดผิวกาย จึงมีส่วนในการช่วยกำจัดเซลล์ผิวเก่าที่ตายแล้วออกไปได้ง่ายกว่าเส้นใยไผ่ขัดผิวชนิดอื่น ๆ
อย่างไรก็ตามไม้ไผ่เป็นไม้พุ่มที่มีหลากหลายชนิด อาทิ ไผ่ตง ไผ่รวก ไผ่เหลือง หรือไผ่สุก ซึ่งแม้ไม้ไผ่เหล่านี้ต่างมีลักษณะภายนอกทั้งตามยาวและตามขวางคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ มีลักษณะขรุขระ ผิวไม่เรียบ แต่ก็สามารถนำไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์ใยไผ่ขัดผิวกายได้เช่นกัน ซึ่งลักษณะของไม้ไผ่ที่เหมาะจะนำเอาเส้นใยไผ่มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ขัดผิวต้องคัดเลือกไม้ไผ่ที่มีอายุประมาณ 2-3 เดือน ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับกรรมวิธีในการผลิต เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ใยไผ่ขัดผิวกายที่มีคุณภาพดีด้วย
“สำหรับกรรมวิธีในการผลิตผืนผ้าจากเส้นใยไผ่ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่จากเส้นใยไผ่ เริ่มจาก 1. ศึกษาเรียนรู้การผลิตเส้นด้ายจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ฝ้าย ลินิน ปอ ป่าน และกัญชง 2. ดำเนินการผลิตเส้นด้ายจากใยไผ่ โดยใช้วิธีการปั่นเส้นด้ายแบบภูมิปัญญาไทย 3. ทดสอบคุณภาพเส้นด้าย ตามมาตรฐานการทดสอบวัสดุที่ได้รับการยอมรับและแพร่หลายมากที่สุด (American Society for the Testing of Materials : ASTM) และ 4. เปรียบเทียบความพึงพอใจของผู้บริโภคที่มีต่อรูปแบบผลิตภัณฑ์” นักวิจัยมทร.ธัญบุรี กล่าว
ขณะที่กระบวนการปรับปรุงกรรมวิธีการผลิตใยไผ่สปาขัดผิวของทีมนักวิจัย จากสาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ยังไม่สิ้นสุดเท่านี้ ยังคงวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง มีการคิดนวัตกรรมเชิงประยุกต์ โดยถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ให้กับผู้ประกอบการในชุมชนบ้านคลองปากกราน ตำบลปากกราน อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เช่น การนำใยไผ่มาผสมกับสบู่น้ำผึ้ง ช่วยทำให้เกิดรูปแบบใยไผ่สปาขัดผิวและช่วยทำความสะอาดสิ่งสกปรกออกจากร่างกายได้ง่ายขึ้น จนผลิตภัณฑ์ใยไผ่ขัดผิวกายได้รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ของดีของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา