กลุ่มนักศึกษาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ระดมสมองคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือภาคการเกษตร “หุ่นยนต์อัจฉริยะปรับสภาพดิน”สำหรับตรวจวัดและปรับสภาพดินก่อนการเพาะปลูกโดยอัตโนมัติ ช่วยร่นเวลาและกำลังแรงงานไปได้มาก
นายจตุรงค์ กิติศักดิ์ นักศึกษาชั้นปี 4 วิศวกรรมเกษตร ในฐานะตัวแทนกลุ่มเปิดเผยถึงผลงานชิ้นเอกนี้ว่าตนเองและเพื่อนได้ทำการคิดค้นหุ่นยนต์อัจฉริยะสำหรับตรวจวัดและปรับสภาพดินอัตโนมัติขึ้นเป็นหุ่นยนต์ต้นแบบโดย ประกอบด้วยโครงสร้างหุ่นยนต์ที่เป็นอะลูมิเนียม เพราะจะได้มีน้ำหนักเบา ชุดสไลด์ สำหรับตรวจวัดสภาพดิน (NPK เซ็นเซอร์) ชุดควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์ ระบบจ่ายน้ำยาปรับสภาพดิน
“หุ่นยนต์ตัวนี้ทำงานง่าย โดยเริ่มจากผู้ทำการตรวจสภาพหุ่นยนต์ให้พร้อมใช้งาน ทำการเติมน้ำยาปรับสภาพดินลงในกระบอกเก็บน้ำยาทั้งสองข้างให้เต็ม นำหุ่นยนต์ไปติดตั้งให้คร่อมร่องเกษตรที่ต้องการปรับสภาพดิน และทำการเซตค่าการสำรวจ หลังจากเซตค่าแล้ว หุ่นยนต์จะทำงานแบบอัตโนมัติโดยชุดควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์จะทำการสั่งงานให้ชุดสไลด์ของหุ่นยนต์ตรวจวัดสภาพดินที่ทำการเจาะลงไปและส่งผ่านข้อมูลมายังชุดควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์ หลังจากนั้นชุดควบคุมจะวิเคราะห์ข้อมูล และสั่งให้ระบบจ่ายน้ำยาปรับสภาพดิน ทำการปรับสภาพดินให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก”
นายจตุรงค์กล่าวและว่า ชุดควบคุมอัตโนมัตินี้จะสั่งให้หุ่นยนต์ขับเคลื่อนและทำการตรวจดิน ทุกๆ 0.50 เมตร กลไกการทำงานนั้นไม่ซับซ้อนมาก ผู้ใช้สามารถปฏิบัติได้สะดวกและมีความปลอดภัย ในการบำรุงรักษาง่ายอุปกรณ์ชิ้นส่วนหากชำรุดสามารถถอดเปลี่ยน และหาซื้อได้ทั่วไปตามท้องตลาด ที่สำคัญคือลดแรงงานคน เพราะหุ่นยนต์ 1 ตัวใช้ผู้ปฏิบัติงานเพียง1 คน แต่สามารถทำงานในพื้นที่กว้างไม่จำกัด
edusiamrath@gmail.com