ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้มีหนังสือตอบข้อหารือที่ ศธ ๐๕๙๒(๓.๙)/๒๕๔๒ ถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “คณาจารย์ประจำและข้าราชการ” ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. ๒๕๔๘ ไม่ว่ารวมถึงพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาที่มิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ (สายสนับสนุน) ซึ่งทำให้ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเป็นประธานและกรรมการคณาจารย์และข้าราชการได้ และต่อมาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวตามเรื่องเสร็จที่ ๑๘๘๔/๒๕๕๘ เรื่องสิทธิของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาในการเป็นประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการหรือกรรมการสภาคณาจารย์และข้าราชการตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. ๒๕๔๘ ไปในทางเดียวกัน ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถออกข้อบังคับกำหนดคุณสมบัติของประธานและกรรมการสภาคณาจารย์และข้าราชการให้หมายความรวมถึงพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา (สายสนับสนุน) ได้
โดยที่กฎหมายว่าด้วยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสม กล่าวคือ จากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายโดยลดอัตรากำลังข้าราชการลง ตามมติคณะรัฐมนตรีในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยให้มีการว่าจ้างพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาขึ้นมาทดแทน จึงทำให้พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งทำหน้าที่แทนข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อให้พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาได้มีส่วนร่วมในการบริหารมหาวิทยาลัยและสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัย องค์ประกอบของสภาคณาจารย์ ข้าราชการและพนักงานของมหาวิทยาลัย และอำนาจหน้าที่ของสภาคณาจารย์ ข้าราชการและพนักงาน รวมถึงอำนาจหน้าที่ของอธิการบดี จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. ๒๕๔๘ ดังต่อไปนี้
(๑) แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “สภาคณาจารย์ ข้าราชการและพนักงาน” เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมถึงพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาสายสนับสนุน และเพิ่มนิยามคำว่า “พนักงาน” (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๔)
(๒) แก้ไขข้อความในมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง (๒) (๔) มาตรา ๒๒ มาตรา ๒๓ และมาตรา ๒๗ (๖) ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงชื่อสภาคณาจารย์ ข้าราชการและพนักงาน ตามมาตรา ๔