แนวหน้า ฉบับวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2563
ปัจจุบัน “การคัดแยกขยะ” ได้รับความนิยมโดยเฉพาะตามชุมชนต่างๆ เพราะนอกจากจะเป็นการนำขยะแต่ละประเภทไปกำจัดด้วยวิธีการที่เหมาะสมแล้ว ขยะบางชนิดยังสร้างรายได้ให้กับผู้คัดแยกด้วย เช่น “ขยะพลาสติก” โดยเฉพาะขวดพลาสติกที่สามารถนำไปขายกับผู้รับซื้อของเก่าได้ อย่างไรก็ตาม “ยังมีขยะพลาสติกอีกหลายชนิดที่ไม่เป็นที่ต้องการของผู้รับซื้อของเก่า” อาทิ ถุงพลาสติกหูหิ้ว รวมถึงขยะประเภทฟิล์มต่างๆ อย่างถุงใส่แกง ถุงใส่น้ำยาปรับผ้านุ่ม ถุงขนมขบเคี้ยว ซองกาแฟ ฯลฯ
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะขยะดังกล่าวมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และบดสลายได้ยาก อีกทั้งส่วนหนึ่งยังมีการเติมสีลงในเนื้อพลาสติกเพื่อการพิมพ์ลายให้สวยงามน่าใช้ หรือบางชนิดก็มีการลามิเนตด้วยฟิล์มอะลูมิเนียมลงไปด้วย ทำให้ต้องนำไปคัดแยกส่วนที่โรงงานรีไซเคิลพลาสติกไม่ต้องการออกไปก่อน ทำให้ ผศ.วรุณศิริ จักรบุตร อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี สนใจที่จะหาวิธีจัดการกับขยะเหล่านี้
ผศ.วรุณศิริเล่าว่า ได้ทำงานร่วมกับประชาชนที่อาศัยในหมู่บ้านเอื้ออาทรรังสิตคลอง 10/2 ม.3 ต.บึงสนั่น อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ซึ่งที่นี่มีการตั้งกลุ่มรับซื้อขยะมีค่าจากคนในชุมชน ดังนั้นปัญหาคือ “จะทำอย่างไรให้ขยะถุงพลาสติกหูหิ้วซึ่งผู้คนนิยมใช้กันมากแต่ไม่ใช่ขยะที่ผู้รับซื้อของเก่าต้องการมีมูลค่าเพิ่มขึ้น” นำมาสู่การทำงานวิจัย “โครงการแผ่นลามิเนตจากขยะ ถุงพลาสติก” เพราะสามารถนำไปต่อยอด เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้หลายชนิด
“ในช่วงแรกของการทำวิจัย เป็นการศึกษาคุณสมบัติของถุงหูหิ้วที่มีอยู่ในท้องตลาด จากนั้นจึงทำการพัฒนาเครื่องอัดความร้อนที่สามารถอัดให้ถุงหูหิ้ว 2-5 ชั้น ผสานเป็นแผ่นลามิเนตเนื้อเดียวกันได้ง่ายๆ พร้อมทั้งทดสอบพบว่าแผ่นลามิเนตดังกล่าวมีคุณสมบัติที่ทนต่อแรงดึงแรงฉีกมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเทคนิคการเคลือบแผ่นลามิเนตบนชิ้นผ้า ที่ทำให้ได้แผ่น ลามิเนตที่มีลวดลายสวยงามมาก ยิ่งขึ้น” ผศ.วรุณศิริ กล่าว
ขณะที่ กุลวดี สังข์สนิท หนึ่งในคณะผู้วิจัย กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะผู้วิจัยยังต้องการสร้างอาชีพให้กับกลุ่มประชากรสูงอายุในชุมชนเนื่องจากหลายรายไม่มีงานทำ จึงมีโจทย์ 2 ด้านที่ต้องคิดคือทั้งการทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่สวยงามน่าสนใจสำหรับผู้ซื้อและมีกระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน และสามารถทำได้ด้วยอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย โดยผลิตภัณฑ์ที่ทำได้ตอนนี้คือ กระเป๋า แผ่นรองปูแก้ว และเสื่อปูพื้น
ด้าน คัทธีญา ผาคำ อายุ 58 ปี หนึ่งในสมาชิกกลุ่มรีไซเคิลของชุมชนหมู่บ้านเอื้ออาทรรังสิตคลอง 10/2 เล่าถึงการดำเนินการในชุมชนว่า ทางกลุ่มรีไซเคิลจะทำหน้าที่ผลิตแผ่น ลามิเนตจากถุงพลาสติก และส่งต่อให้ สมาชิกในชุมชนรับไปผลิตเป็นกระเป๋า ผ้า แล้วส่งกลับมาให้กลุ่มรีไซเคิลจำหน่ายอีกครั้ง โดยผู้ผลิตกระเป๋าจะได้รับค่าตอบแทนใบละ 5 บาท ซึ่งความสามารถในการผลิตที่กระเป๋าก็แตกต่างกันไปตามอายุ สมรรถภาพของร่างกาย และเวลาว่าง บางคนอาจผลิตได้เพียงวันละไม่กี่ใบ ขณะที่บางคนอาจผลิตกระเป๋าได้ถึง 80 ใบต่อวัน
“กระเป๋าผ้านี้มีราคาขายอยู่ที่ใบละ 40-80 บาท ขึ้นกับขนาดและรูปแบบ ถือเป็นการกระจายรายได้ให้คนในชุมชน จุดเด่นของกระเป๋าชนิดนี้นอกจากความสวยงามของลวดลายผ้าแล้ว ยังมีความแข็งแรงและกันน้ำได้อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันทางเทศบาล รับไปจำหน่ายในกิจกรรมต่างๆ และเริ่มมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้ามาสั่งทำกระเป๋าที่เป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อมนี้แล้ว โดยตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาสามารถเปลี่ยนจากถุงหูหิ้วที่เป็นขยะพลาสติก มาผลิตเป็นกระเป๋าผ้าได้ประมาณ 1,000 ใบ สร้างรายได้ ให้กับชุมชนแล้ว 12,000 บาท” คัทธีญา ระบุ
บทสรุปของงานวิจัยข้างต้น “การนำความรู้มาใช้ช่วยเพิ่มมูลค่าของขยะพลาสติกบางประเภทที่ก่อนหน้านั้นไม่เป็นที่ต้องการ” โดยเฉพาะขยะประเภทถุงหรือฟิล์มพลาสติกชนิด PP และ PE ที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ให้กลายเป็นของมีคุณค่าและมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ถือเป็นการแก้ปัญหาขยะได้อย่างตรงจุดพร้อมๆ ไปกับช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และที่สำคัญคือช่วยสานสัมพันธ์ในชุมชนได้ด้วย
สำหรับแนวทางการต่อยอด งานวิจัยนี้ นอกจากการพัฒนาเทคนิคการผลิตแผ่นลามิเนตให้มีคุณสมบัติดีขึ้น หรือเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ผ้ากันเปื้อน เสื่อปูพื้น คณะผู้วิจัยยังได้หารือร่วมกับทางเทศบาลเมืองปทุมธานี เพื่อขยายองค์ความรู้ที่ได้รับจากพื้นที่ต้นแบบ สู่ชุมชนอื่นๆ ในจังหวัดต่อไป!!!
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
Template file :: download-button does not exist!