ผลิตภัณฑ์เป่าแก้ว สร้างสรรค์ขึ้นโดยแผนกช่างเป่าแก้วของศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถือเป็นงานศิลป์ที่มีรูปทรงที่สวยงามและมีคุณค่าทางศิลปะ มีเอกลักษณ์โดดเด่น ใช้เพื่อประดับตกแต่งและตั้งโชว์ มีรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ ดอกไม้ ต้นไม้ขนาดต่างๆ และตัวสัตว์หลากหลายชนิด
ผศ.จุฑามาศ เจริญพงษ์มาลา และนายคมสัน เรืองโกศล อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์เป่าแก้วของศูนย์ศิลปาชีพฯ เป็นสินค้าที่แตกหักได้ง่าย บรรจุภัณฑ์ที่ใช้เพื่อการจัดจำหน่ายในปัจจุบัน เป็นรูปทรงกล่องสี่เหลี่ยม ทำจากวัสดุกระดาษลูกฟูกลอน E มีฝาเปิดปิดด้านบน ในการบรรจุสินค้าผลิตภัณฑ์เป่าแก้วจะห่อด้วยพลาสติกกันกระแทก (air bubble) ด้านใน แล้วบรรจุลงในกล่องเพื่อจัดจำหน่าย ซึ่งทำให้ใช้เวลามากและสิ้นเปลืองวัสดุ และบนบรรจุภัณฑ์ยังขาดรายละเอียดที่อยู่ของผู้ผลิต เครื่องหมายการค้าและข้อควรระวัง
จากปัญหาดังกล่าว จุดประกายให้อาจารย์ทั้งสองท่านเกิดแนวคิดที่จะออกแบบ และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมสำหรับบรรจุผลิตภัณฑ์เป่าแก้วของศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อการแสดงโชว์สินค้า การจัดจำหน่าย รวมถึงให้มีความสะดวกต่อการขนส่ง
“ลักษณะของบรรจุภัณฑ์นี้ประกอบไปด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกคือ โครงสร้างชั้นในเป็นฐานล็อก ทำหน้าที่เป็นตัวจับยึดตัวสินค้าไม่ให้เคลื่อนที่ และอีกส่วนเป็นโครงสร้างภายนอกมีรูปทรงกล่องสี่เหลี่ยม สามารถวางเรียงซ้อนกล่องด้านบนได้เพื่อสะดวกในการขนส่งและคลี่แบบกล่องให้แบนราบได้เมื่อยังไม่บรรจุสินค้า
นอกจากนี้ยังสามารถพับกล่องขึ้นรูปได้โดยไม่ต้องใช้กาว เมื่อเปิดกล่องออกมา สามารถโชว์ผลิตภัณฑ์เป่าแก้วได้ รูปทรงของกล่องจะคล้ายนกกำลังกางปีก มีการล็อกฐานผลิตภัณฑ์เป่าแก้วด้านล่าง เพื่อป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์เคลื่อนที่ได้ สามารถเปิดกล่องนำผลิตภัณฑ์เป่าแก้วออกจากด้านหน้าได้ ซึ่งโครงสร้างทั้งหมดทำจากวัสดุกระดาษลูกฟูกลอน E” ผศ.จุฑามาศ เจริญพงษ์มาลา กล่าว
ส่วนการออกแบบลวดลายกราฟฟิกบนบรรจุภัณฑ์เป่าแก้ว ได้แนวคิดในการออกแบบลวดลายกราฟฟิก โดยนำรูปแบบอาคารศาลาพระมิ่งขวัญ ซึ่งเป็นอาคารทรงไทยประยุกต์มาเป็นแนวคิดในการออกแบบลวดลาย เครื่องหมายการค้าใช้ชื่อว่า “ต้นแก้ว” ส่วนด้านข้างกล่องแสดงที่อยู่ผู้ผลิต ลวดลายด้านข้างและด้านหลังกล่องสามารถจัดวางลายต่อเนื่อง
ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์นี้สามารถตอบสนองการใช้งานได้จริง สะดวกและประหยัดเวลาต่อการบรรจุ มีความเหมาะสมที่จะผลิตเพื่อการจัดจำหน่ายได้จริง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า รวมถึงการคุ้มครองผลิตภัณฑ์ จากความยอดเยี่ยมที่กล่าวมา ผลงานชิ้นนี้จึงได้รับรางวัลเหรียญทองแดง (Bronze Prize) จากการประกวดผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์ในงาน Korea International Women’s Invention Exposition 2014 (KIWIE 2014) ประเทศเกาหลีใต้
รางวัล (TIIIA Outstanding Diploma) จาก Taiwan Invention & Innovation Industry Association ประเทศไต้หวัน รางวัลที่ 1 ประเภทผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ จากงานประกวด 4TH Top Ten Innovation Awards ประจำปี 2557 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี รวมถึงล่าสุดได้รับคัดเลือกและเข้าร่วมการฝึกอบรมโครงการประกวดการพัฒนาภูมิปัญญาสู่นวัตกรรม ระดับภูมิภาค ในโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ด้วยทรัพย์สินทางปัญญาในการเข้าสู่ตลาด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557
เจ้าของออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์งานเป่าแก้วทิ้งท้ายว่า พร้อมและยินดีในการถ่ายทอดองค์ความรู้ และเปิดให้เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ สามารถติดต่อโดยตรงที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี โทร. 0-2549-3278.