ผลิตภัณฑ์อาหารจากบัว สินค้าตัวใหม่ สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มสตรีชุมชนหมู่ 6 ตำบลหลักหก สรรพคุณทางยาสำหรับผู้บริโภค
ผู้ช่วยศาสตราจารย์อัญชลินทร์ สิงห์คำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ผู้รับผิดชอบโครงการหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เล่าว่าทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีการคัดเลือกหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้น โดยทางกระทรวงได้จัดสรรงบประมาณให้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ในการเข้าบริการวิชาการให้กับหมู่บ้านที่ได้รับการคัดเลือก ซึ่งกลุ่มสตรีชุมชนหมู่ 6 ตำบลหลักหก เป็นหนึ่งในหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้รับการคัดเลือก
สาเหตุของการคิดค้นสูตรอาหารจากบัว เนื่องจากจังหวัดปทุมธานีมีบัวเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด จึงอยากจะนำผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นเข้ามาสร้างรายได้และอาชีพให้กับกลุ่มสตรีชมชุนหมู่ 6 เพื่อให้กลุ่มแม่บ้านมีรายได้เพิ่มเติม โดยปัจจุบันมีสินค้าให้เลือกมากมาย เช่น ไส้อั่วจากไหลบัว น้ำพริกตาแดงจากรากบัว น้ำพริกเผาจากเม็ดบัว และตอนนี้ยังได้ต่อยอดเป็นเบเกอรี่ โดยส่วนต่างๆ จากบัวล้วนเป็นสมุนไพร เช่น ไหลบัว สรรพคุณ บำรุงร่างกาย ตับ ไต รากบัว สรรพคุณเจริญอาหาร บำรุงเลือด ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นกลุ่มแม่บ้านได้ออกจำหน่ายตามงาน OTOP งานกาชาดประจำจังหวัดปทุมธานี โดยจากการประเมินทุก 3 เดือน ทำให้ทราบว่าแต่ละครั้งที่ออกหน้าร้านได้ผลตอบรับจากตลาดดีมาก ทำให้กลุ่มสตรีมีรายได้ นอกจากนี้ผลสำเร็จที่เกิดขึ้น กลุ่มสตรีชุมชนหมู่ 6 ได้รับการเสนอให้เป็น “หมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ได้นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาของชุมชนและเผยแพร่ให้ชุมชนใกล้เคียงต่อไป
นางณัฐชยา เหลืองบัณฑิต ประธานกลุ่มสตรีชุมชนหมู่ 6 ตำบลหลักหก เล่าวา ได้มีการรวมตัวกันมาประมาณ 5 – 6 เดือน ซึ่งการเข้าอบรมพัฒนาอาชีพกับอาจารย์ และได้นำความรู้ที่ได้มาต่อยอด ซึ่งอาจารย์ได้ให้ความรู้ และช่วยในการคิดค้นสูตรอาหารจากบัว ในการนำส่วนต่างๆ ของบัวมาเป็นส่วนผสมหลัก ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ใหม่และแปลก เป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค โดยยังคงคุณค่ารสชาติเหมือนเดิม ซึ่งสมาชิกในกลุ่มมีประมาณ 20 คน บัวเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในชุมชนอยู่แล้ว ซึ่งราคาของไส้อั่วไหลบัวกิโลกรัมละ 350 บาท น้ำพริกตาแดงรากบัว น้ำพริกเผาเม็ดบัว กระปุกละ 20 บาท โดยตอนนี้ได้นำมาต่อยอดในลักษณะของเบอร์เกอรี่ เช่น ชิฟฟ่อนรากบัว คุกกี้เม็ดบัว หรือทำอาหารตามช่วงเทศกาล เช่น เทศกาลกินเจ กับเมนูกุยช่ายไส้ไหลบัว ซึ่งในอนาคตจะนำมาประยุกต์ดัดแปลงต่อยอดและนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้กับชุมชนใกล้เคียงต่อไป
นางฉวีวรรณ งามแท้ อายุ 48 ปี กลุ่มกลุ่มสตรีชุมชนหมู่ 6 ตำบลหลักหก เล่าว่า อาชีพหลักคือนวดแผนไทยตามชุมชน โดยรายได้ครั้งละ 300 บาท ถ้าไม่มีงานนวดจะว่างจึงอยากจะหาอะไรทำและสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองได้ จึงได้เข้าอบรมกับอาจารย์และเพื่อนกลุ่มสตรี ซึ่งได้รับความรู้มากมาย เมื่อได้ออกร้านงานต่างๆ ของจังหวัด ได้รับการตอบรับดีมาก ซึ่งตอนนี้เงินที่จำหน่ายสินค้าได้อยู่กองกลางยังไม่ได้เฉลี่ยแบ่งกัน หลังจากที่ว่างจากการทำงานหลักหรือมีคนสั่งผลิตภัณฑ์จะรวมกลุ่มและช่วยกัน ถือเป็นรายได้เสริมของตนเอง
นางบุญเสริม สังข์นุช อายุ 54 ปี เล่าว่า ในตอนเช้ามีเวลาว่าง เนื่องจากมีอาชีพขายเสื้อผ้าตามตลาดนัด โดยจะเป็นช่วงเย็น ตอนเช้าจะว่างงานอยู่บ้านเฉยๆ จึงได้หาอะไรทำให้เกิดประโยชน์ เมื่อได้เข้าร่วมอบรมกับโครงการ ความรู้ที่ได้สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ไม่ว่าในเรื่องของโภชนาการ ซึ่งบางครั้งเข้าใจผิดในเรื่องของการรับประทานอาหาร โดยตนเองจะมีหน้าที่ในการเตรียมเครื่องปรุงในการทำผลิตภัณฑ์ ซึ่งตนเองยังได้นำผลิตภัณฑ์ของกลุ่มไปจำหน่ายตามตลาดที่ตนเองไปขายเสื้อผ้าด้วย เป็นการช่วยกลุ่มอีกทางหนึ่ง
สำหรับผู้สนใจในการสั่งผลิตอาหารจากบัว โดยไส้ฮั่วสามารถเก็บไว้ในช่องฟิตได้ประมาณ 1 เดือน น้ำพริกเก็บได้ 2 อาทิตย์ หรือว่าต้องการสั่งเบอร์เกอรี่ในการจัดงานเลี้ยง สามารถติดต่อได้ที่
พี่ณัฐชยา ประธานกลุ่มสตรีชุมชนหมู่ 6 ตำบลหลักหก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 081-6468385
บทความโดย. ชลธิชา ศรีอุบล กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี 02-549-4994