เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2563
นภาพร พานิชชาติ
napapornp@dailynews.co.th
การระบาดของไวรัส โควิด-19 ที่ลุกลามไปทั่วโลก “หน้ากากอนามัย” กลายเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกัน ทั้งการป้องกันไม่ให้ไวรัสแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น และการป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้ามาสู่ตัวเราและแน่นอน หน้ากากอนามัยจำนวนมหาศาลที่ถูกใช้งาน จะกลายเป็นขยะไปในทันทีเช่นกัน เพราะหน้ากากอนามัยเป็นวัสดุสิ้นเปลือง ใช้แล้วทิ้ง
หน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี จึงมี แนวคิดนำขยะหน้ากากอนามัยเหลือทิ้ง มาใช้ประโยชน์เป็นวัสดุเสริมแรงในการผลิตวัสดุก่อสร้าง วัสดุตกแต่ง และกระถางต้นไม้
ประชุม คำพุฒ หัวหน้าหน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า หน้ากากอนามัยที่ถูกทิ้งส่วนมากไม่ได้มีการติดเชื้อ เพราะคนใส่เพื่อป้องกันตัวเองเป็นหลัก จึงเป็นที่น่าเสียดายหากนำไปกำจัดด้วยการเผาทิ้งแต่เพียงอย่างเดียว จึงต้องการนำขยะเหล่านี้กลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง
หน้ากากอนามัยนับเป็นขยะอันตรายกว่าขยะพลาสติกทั่วไป จึงต้องทำการกำจัดเชื้อโรคหรือทำความสะอาดหน้ากากอนามัยใช้แล้วในเบื้องต้นด้วยการพ่นด้วยแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค แล้วอบไอน้ำแรงดันสูง ก่อนนำไปใช้งานเป็นวัสดุเสริมแรงในการผลิตวัสดุก่อสร้างและวัสดุตกแต่งอาคาร จัดสวน เช่น บล็อกก่อผนังมวลเบา อิฐบล็อกประสาน บล็อกปูพื้น ฝ้าเพดาน ฯลฯ
“ข้อดีของขยะหน้ากากอนามัย คือที่มีความเหนียวเป็นแผ่นใยผ้าหรือพลาสติก สามารถนำมาเสริมความแข็งแรงให้กับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ได้ผลิตขึ้นจากกรรมวิธีการผลิตคอนกรีต โดยช่วยในด้านการรับแรงดึง แรงดัด และช่วยลดการแตกร้าวให้กับผลิตภัณฑ์ ตลอดจนมีน้ำหนักเบา และเป็นฉนวนความร้อนที่ดี ขึ้นได้”
หน้ากากอนามัย แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
1.หน้ากากอนามัยผ้าฝ้าย ใช้สำหรับป้องกันฝุ่นละออง และป้องกันการกระจายของน้ำมูกหรือน้ำลาย จากการไอหรือจาม แต่ไม่สามารถกรองเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กมาก ๆ ได้ หน้ากากชนิดนี้สามารถซักและนำกลับมาใช้ใหม่ได้
2.หน้ากากอนามัยใยสังเคราะห์ 3 ชั้น ทำจากพอลิโพรไพลีน ใช้ในการกรองฝุ่น ป้องกันของเหลวซึมผ่าน และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากการไอหรือจาม และเชื้อโรคจำพวกเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราได้และ
3.หน้ากากอนามัยชนิด N95 ที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถป้องกันเชื้อโรคได้ดีที่สุด มีคุณสมบัติป้องกันได้ทั้งฝุ่นละออง และเชื้อโรคที่มีขนาดอนุภาคเล็ก ได้ถึง 0.3 ไมครอน
สำหรับวิธีการกำจัดหน้ากากอนามัย หน่วยงานสาธารณสุข ระบุว่า หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วจากโรงพยาบาล ให้ใช้วิธีกำจัดแบบเดียวกับการกำจัดขยะติดเชื้อ โดยใช้ถุงพลาสติกสีแดง ติดเครื่องหมายว่าเป็นขยะติดเชื้อ เก็บรวบรวมไว้ในที่เฉพาะ กำจัดในเตาเผา แต่ถ้าเป็นแบบที่ใช้แล้วจากชุมชนและสถานที่ทั่วไป ต้องมีการแยกขยะใส่ถุงพลาสติก มีป้ายบอกชัดเจนว่า มัดถุงให้แน่น และแยกเก็บรวบรวมไว้อย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนกับขยะอื่น
ใช้หน้ากากอนามัยแล้วก็ควรทิ้งให้ถูกที่ กำจัดให้ถูก ทาง ไม่เช่นนั้น ประโยชน์ในการป้องกันโรค จะกลายเป็นภาระของโลกไป.
Template file :: download-button does not exist!