เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2563
การระบาดของ “ไวรัสโควิด-19″ในอีกด้านก็ชวนให้คิดถึงการ ‘ช่วยกันดูแลรักษาโลกให้สะอาด” ซึ่งก็จะ ‘ส่งผลดีต่อสุขภาพคน”และกับการ “ลดขยะพลาสติก” โดยการ “นำกลับมาใช้ซ้ำ” หรือ “รีไซเคิล” ก็เป็นสิ่งที่ควรต้องช่วยกัน โดยเป็นอีกวิธีที่ถูกนำมาใช้เพื่อ “แก้ไขปัญหาขยะพลาสติก” และก็ย่อมจะดียิ่งขึ้นถ้า “เพิ่มมูลค่าให้กับขยะพลาสติก” ได้พร้อม ๆ กัน ซึ่งนอกจากจะลดปริมาณขยะพลาสติกแล้ว ยังเกิด “อาชีพเสริม-รายได้เสริม” ได้ด้วย อย่างเช่นอีกหนึ่ง ‘กรณีศึกษา”กรณี ชุมชนหมู่บ้านเอื้ออาทรรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ…
ที่นอกจากจะมีการรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก…
มีการ ‘ตั้งธนาคารขยะเพื่อคัดแยกขยะ” แล้ว…
ยังได้ ‘นำถุงพลาสติกที่ไร้ค่ามาใช้สร้างมูลค่า”…
เกี่ยวกับกรณีศึกษาดังกล่าวนี้เป็นผลงานร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ สกสว. กับชุมชนหมู่บ้านเอื้ออาทรรังสิต หมู่ 3 ตำบลบึงสนั่น ที่ปทุมธานี ซึ่งก็ประสบกับปัญหาขยะพลาสติก จนชาวบ้านแก้ปัญหาด้วยการจัดตั้งธนาคารขยะ เพื่อเป็นจุดรับซื้อขยะ เพื่อรวบรวมขยะพลาสติกกับขยะมีค่าอื่น ๆ นำไปขายให้กับคนที่มารับซื้อ อย่างไรก็ตาม แม้วิธีดังกล่าวจะลดปริมาณขยะได้ แต่ก็ยังมี “ขยะพลาสติกตกค้าง” ในชุมชนอยู่ดี
‘แม้ธนาคารขยะจะช่วยลดขยะพลาสติกลงได้ แต่ก็ยังมีขยะตกค้าง เช่น ขวด PET สีต่าง ๆ ซองขนม ซองกาแฟ ถุงหูหิ้ว ถุงใส่แกง ถุงใส่น้ำยาปรับผ้านุ่ม ถุงขนมขบเคี้ยว ฯลฯ ซึ่งเป็นพลาสติกที่รถซาเล้งไม่สนใจ จึงมีตกค้างในชุมชนจำนวนมาก ทำให้ทุกคนมาคิดว่าจะทำยังไงกับขยะเหล่านี้ ที่สุดจึงเกิดเป็นโครงการนี้ขึ้น”…นี่เป็นการระบุถึง “ที่มา” ของโครงการวิจัยโครงการหนึ่ง ซึ่งทาง ผศ.วรุณศิริ จักรบุตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หรือ มทร.ธัญบุรี ให้ข้อมูลการจัดตั้งโครงการฯ นี้ไว้ พร้อมทั้งบอกว่าเป็นการ ร่วมกับชาวชุมชน ด้วยการ…
“นำถุงพลาสติกหูหิ้วมาแปรรูป-ทำให้มีราคา”…
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีชื่อว่า ‘โครงการแผ่นลามิเนต จากขยะถุงพลาสติก” มี ผศ.วรุณศิริ เป็นหัวหน้าโครงการ โดยนัก วิจัยคนเดิมกล่าวว่า…ขยะพลาสติกประเภท “ถุงหูหิ้ว” นอกจากมี ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และบดสลายยากแล้ว ส่วนหนึ่งยังมีการเติม สีลงในเนื้อพลาสติกเพื่อพิมพ์ลายให้สวยงาม หรือจะมีการเคลือบ ถุงด้วยลามิเนต หรือด้วยฟิล์มอะลูมิเนียม ทำให้กลุ่มพ่อค้ารับซื้อ ขยะไม่สนใจรับซื้อขยะชนิดนี้ เนื่องจากจะต้องนำไปคัดแยกก่อน เพราะเป็นวัสดุที่โรงงานรีไซเคิลไม่ต้องการ จากปัญหาข้างต้น จึงเป็นที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้ เพื่อค้นหาวิธีทำให้ถุงหูหิ้วเหล่านี้เป็นของที่มีมูลค่ามากกว่าเดิม
‘ที่เสนอไปคือ นำมาทำเป็น ‘แผ่นลามิเนต” ที่สามารถต่อ ยอดเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลาย ๆ ชนิด โดยมีวัตถุประสงค์คือ. ต้อง การพัฒนาเทคนิคผลิตแผ่นลามิเนตจากถุงหูหิ้วที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีแผ่นลามิเนตเป็นวัตถุดิบหลัก” …ผศ.วรุณศิริ ระบุถึงวัตถุประสงค์งานวิจัยดังกล่าว
สำหรับกระบวนการเริ่มแรกนั้น ทางหัวหน้าโครงการฯ คนเดิม บอกว่า…เริ่มจากการศึกษาคุณสมบัติของถุงหูหิ้วที่มีอยู่ในท้องตลาด จากนั้นจึงทำการพัฒนาเครื่องอัดความร้อน ที่จะสามารถอัดถุงหูหิ้วได้ 2-5 ชั้น เพื่อผสานเป็นแผ่นลามิเนตเนื้อเดียวกัน พร้อมกับการทดสอบว่าแผ่นลามิเนตที่ผลิตขึ้นนี้มีคุณสมบัติทนต่อแรงดึงแรงฉีกเพียงใด และนอกจากจะพัฒนาเครื่องมืออัดฉีดความร้อนแล้ว ยังได้ทำการพัฒนาเทคนิคการเคลือบแผ่นลามิเนตบนชิ้นผ้า จน ได้แผ่นลามิเนตที่มีลวดลายสวยงามมากขึ้น อีกด้วย โดยเมื่อได้ผลวิจัยชัดเจนแล้ว ทีมวิจัยจึงจัดอบรมให้คนในชุมชน รวมถึงกลุ่ม อสม. และผู้สูงอายุ เพื่อ…
ส่งเสริมชุมชนผลิตแผ่นลามิเนตจากถุงหูหิ้ว.
แปรรูปขยะพลาสติกให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีราคา.
ขณะที่ในเรื่องของ การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากแผ่นลามิเนต นั้น เรื่องนี้ทาง ดร.กุลวดี สังข์สนิท หนึ่งในนักวิจัยร่วมให้ข้อมูลว่า…ทีมวิจัยต้องการให้คนในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ว่างงาน มีรายได้จากกิจกรรมนี้ ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นนอกจากจะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจสำหรับตลาดหรือผู้ซื้อแล้ว ยังต้องมีวิธีการผลิตที่ไม่ซับซ้อน และสามารถทำได้ด้วยอุปกรณ์ที่หาได้ง่ายด้วย ซึ่งตอนนี้มีชิ้นงานที่ชุมชนทำได้เองคือกระเป๋า แผ่นรองแก้ว เสื่อปูพื้น เป็นต้น
ทางด้าน คัทธีญา ผาคำ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มรีไซเคิลของ ชุมชนฯ ก็ระบุว่า…ขณะนี้ทางกลุ่มฯ ได้ผลิตแผ่นลามิเนตจากถุงพลาสติก และส่งต่อให้สมาชิกในชุมชนรับไปผลิตเป็น กระเป๋าจากนั้นจึงส่งกลับมาให้กับทางกลุ่มฯ เป็นผู้จำหน่าย โดยผู้ผลิตจะได้ค่าตอบแทนใบละ 5 บาท ซึ่ง ราคาจำหน่ายอยู่ที่ใบละ 40-80 บาทโดยปัจจุบันทางเทศบาลรับไปจำหน่าย และมีหน่วยงานราชการ เอกชน ติดต่อสั่งทำเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในช่วงเวลา 2 เดือนกว่า ๆ นั้นสามารถเปลี่ยนถุงหูหิ้วที่เป็นขยะพลาสติกให้กลายเป็นกระเป๋าได้กว่า 1,000 ใบ สร้างรายได้ให้ชุมชนได้ประมาณ 12,000 บาท…สมาชิกกลุ่มรีไซเคิลฯ ระบุ
นี่ถือเป็นอีก ‘ไอเดียลดขยะพลาสติก” ที่น่าสนใจ
ไอเดียการ ‘แปลงขยะพลาสติก” อย่าง “ถุงหูหิ้ว”
‘ให้มีมูลค่า” ซึ่งก็ ‘ช่วยดูแลโลก-ดีต่อสุขภาพคน”
โมเดลนี้ก็น่านำไปต่อยอดในพื้นที่อื่น ๆ…