มูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ประกาศเกียรติคุณรางวัลศิลปินคึกฤทธิ์ ประจำปี 2558 ไปเมื่อวันที่ 20 เมษายน (วันคล้ายวันเกิด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ปราโมช)ที่สถาบันคึกฤทธิ์ ในที่นี้ขอนำเกร็ดประวัติศิลปินทั้ง 3 ท่าน นำเสนอโดยสังเขป
สมบัติ ภู่กาญจน์สาขานาฏศิลป์ไทย (เกิด 17 มิ.ย.2491) ในช่วงที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เริ่มก่อตั้งโขนธรรมศาสตร์ ในปี 2509 จึงเริ่มฝึกหัดโขนในกลุ่มยักษ์ต่อมาได้รับบทเป็นทศกัณฐ์และร่วมเล่นโขนธรรมศาสตร์ทุกครั้งตลอด 4 ปีการศึกษา และแม้เมื่อสำเร็จการศึกษา เข้าทำงานหนังสือพิมพ์สยามรัฐแล้วก็ยังทำหน้าที่เป็นหัวหน้า
คณะโขนธรรมศาสตร์และประสานงานกับอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมชเรื่อยมา
นอกจากนี้ ปี 2546 ยังร่วมเป็นผู้ก่อตั้งโขนรามคำแหง และร่วมจัดการฝึกหัดโขนให้แก่เยาวชนผู้สนใจในนามมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งพัฒนาการดำเนินงานเป็นศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์ในปัจจุบัน
จ่าอากาศเอก สุวัฒน์ อรรถกฤษณ์ สาขาดุริยางค์ไทย (เกิด 9 มิ.ย. 2496)เริ่มรับราชการที่กองดุริยางค์ทหารอากาศ ปี 2514 ตำแหน่งเครื่องเป่าไทย และปี 2520 ย้ายมาสังกัดกองการสังคีต กรมศิลปากร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศิลปินอาวุโส
เริ่มหัดเครื่องเป่าฝรั่งกับครอบครัวตั้งแต่ปี 2506 ต่อมาเมื่อบิดาเปลี่ยนอาชีพจากแตรวงเป็นวงปี่พาทย์จึงเริ่มเรียนฆ้องวงเล็กกับครูไพฑูรย์จรรย์นาฏย์ ภายหลังหัดปี่ในกับครูสมนึก บุญจำเริญ, ครูผวน บุญจำเริญและครูมณเฑียร สมานมิตร เมื่อย้ายมาสังกัดกรมศิลปากรจึงฝึกหัดเพิ่มเติมกับครูปี๊บ คงลายทอง และครูบุญช่วย โสวัตร
สุวัฒน์ ศิลปินผู้เชี่ยวชาญเครื่องเป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขลุ่ยเพียงออและเป็นครูผู้อุทิศตนสั่งสอนฝึกหัดเยาวชนตลอดมา
อติวรรณ รัตนวราหะ สาขานาฏศิลป์ไทย (ละครรำ) (เกิด 31 ส.ค. 2511)
สำเร็จการศึกษาสูงสุดปริญญาศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฏศิลป์สมทบ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งครู วิทยาลัยนาฏศิลป์
ในด้านนาฏศิลป์ได้รับการฝึกหัดเป็นตัวนางจากครูผู้ใหญ่หลายท่าน อาทิ ครูเฉลย ศุขะวณิช และครูจำเรียง พุธประดับ เคยเล่นละครเป็นตัวนางสำคัญทั้งในการแสดงโขนและละคร เช่น นางสีดา
นางบุษบาเป็นศิลปินละครรำผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์การแสดงทั้งในและต่างประเทศ มาปรับใช้ฝึกหัดเยาวชนในสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ
สำหรับรางวัลศิลปินคึกฤทธิ์ สืบเนื่องจากหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชได้ตั้งปณิธานที่จะช่วยเหลือศิลปินอาวุโสผู้ตกทุกข์ได้ยาก ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อที่จะได้มีโอกาสถ่ายทอดและเผยแพร่ความรู้ของตนสู่ชนรุ่นหลัง มูลนิธิจึงสืบทอดเจตนารมณ์ด้วยการตั้งโครงการอนุเคราะห์ศิลปินอาวุโสขึ้นในปี2537 เป็นต้นมา จนกระทั่งปี 2552 โครงการอนุเคราะห์ศิลปินอาวุโสได้ปรับเปลี่ยนเป็น “รางวัลศิลปินคึกฤทธิ์” เพื่อเชิดชู ยกย่องศิลปินที่มีคุณงามความ
ดีและคุณประโยชน์แก่วงการศิลปินไทยในสาขาต่างๆ