ภาษาคือสะพานเชื่อมโยงชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนในสังคมที่ผ่านมาในทุกยุคทุกสมัย และ ภาษา คือเชือกเกลียวเส้นหนา ที่ทำหน้าที่ยึดเหนี่ยวทุกเรื่องราวความเชื่อและการดำรงอยู่ของทุกชีวิตให้เราได้ศึกษารากเหง้าที่มีคุณค่าจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบันนี้ “ผศ.โสภณ สาทรสัมฤทธิ์ผล” ผู้ดำเนินรายการเพลินภาษานานาสาระ ทาง FM 89.5 MHz ออกอากาศทุกวันศุกร์ เวลา 08.01 – 08.30 น. ก็มีความเชื่อแบบนี้เช่นกัน ท่านจึงขอทำหน้าที่จัดรายการนี้อย่างเต็มความสามารถ…
“แรกเริ่มผมตั้งใจใช้ชื่อรายการเป็นชื่ออื่น แต่ อ.สมพงษ์ บุญหนุน ท่านช่วยคิดชื่อรายการ เพลินภาษานานาสาระมาให้ ซึ่งถูกใจมาก เพราะมีคำว่า ‘ภาษา’ เนื่องจากผมเองก็เป็นอาจารย์ที่ทำงานด้านภาษาไทย แล้วพอมีคำว่า ‘นานาสาระ’ ก็ยิ่งดีขึ้นไปอีก เราจะเอาสาระอะไรมาพูดก็ย่อมได้ เพราะมันคือนานาสาระ โดยเนื้อหารายการนอกจากจะมีภาษาทั้งไทยแล้วยังมีภาษาต่างประเทศด้วย ในฐานะที่ผมเป็นลูกคนจีนก็จะเห็นว่าในรายการจะมีการพูดถึงภาษาจีนอยู่เยอะ ส่วนของนานาสาระก็จะเน้นไปในเรื่องของวัฒนธรรมและจิตวิทยา เนื้อหาช่วงนี้จะเป็นเรื่องสัพเพเหระในช่วงเวลานั้น ๆ แต่แนวเนื้อหาที่ตัวเองค่อนข้างถนัดคือเรื่องของวรรณคดี ผมจะโยงเรื่องราวในวรรณคดีมาพูดเข้าหาสาระเรื่องราวในยุคปัจจุบัน”
บางรายการอาจจำกัดกลุ่มผู้ฟังไว้กับช่วงอายุที่ผู้จัดตั้งใจให้เป็นแบบคนฟังเฉพาะกลุ่ม แต่กับ ผศ.โสภณ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น “ตัวผมเองไม่ได้ตั้งกลุ่มเป้าหมายไว้แบบชัดเจน อยากจะจัดรายการให้คนหลาย ๆ วัยได้ฟัง ถ้าคนสูงวัยฟัง ก็จะมีความร่วมสมัยดี ถ้าคนรุ่นใหม่ก็จะได้ฟังเรื่องเก่า ๆ ที่มีคุณค่า ผมว่าเยาวชนรุ่นหลัง ๆ มานี้ทักษะในการดู การฟัง การอ่านน้อยลงไปมาก บางทีเราพูดอะไรไปเขาก็จะงง ด้วยความ ที่ไม่อ่านไม่ฟังให้เยอะ คือต้องเข้าใจก่อนว่าวรรณกรรมหรือวรรณคดี คือกิริยาท่าทีของ รัฐและสังคม ฉะนั้นถ้าอยากรู้เรื่องการเมืองการปกครอง หรือสังคม คุณต้องอ่านหนังสือมาก ๆ อย่างเมื่อเราอ่านเรื่องสี่แผ่นดิน เราจะรู้ว่าสมัยรัชกาลที่ 5 6 7 และ 8 เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น พื้นหลังของสี่แผ่นดินคือเรื่องจริง แต่ตัวละครอย่างแม่พลอย คุณเปรม คุณอ้น อันนั้นต่างหาก ที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา คงเป็นเรื่องน่าสนุกถ้าเราจะฝึกให้คนรุ่นใหม่เป็นคนช่างสังเกต อ่านเรื่องนี้แล้วเอาไปโยงเข้ากับเรื่องนั้น น่าจะดีในมุมมองของผมนะ” ผศ.โสภณ กล่าวด้วยน้ำเสียงเจือความหวัง …
“มีคนมาสัมภาษณ์บ่อยครั้งว่าเป็นห่วงการใช้ภาษาของคนรุ่นใหม่ไหม หรือกลัวไหมว่าภาษาไทย จะวิบัติ ผมตอบว่าอย่าห่วงเรื่องภาษาไทยจะวิบัติ แต่ให้คิดว่ามันเป็นการอุบัติ เรื่องของภาษาเป็นเรื่องของ อนิจจัง (ความไม่เที่ยง) เหมือนกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของสรรพสิ่งในโลกนี้ ภาษาก็เช่นกันถ้าไม่มีคนใช้เดี๋ยวก็จะตายไป และสร้างขึ้นมาใหม่ โดยธรรมชาติของภาษาย่อมเกิดจากการใช้ ไม่ได้เกิดจากการบังคับให้ใช้ ถ้าจะห่วง ผมห่วงเรื่องการใช้ภาษาที่ผิดพลาด อย่างการสะกดคำแบบผิด ๆ อันนี้ต่างหากที่เป็นเรื่องน่ากังวล ในแง่ของวัฒนธรรมด้านภาษา”
สำหรับแรงบันดาลใจที่เป็นเชื้อไฟในการจัดรายการนั้น ผศ.โสภณ บอกว่า “ได้แรงบันดาลใจมาจาก รศ.สุนีย์ สินธุเดชะ ตอนนั้นเคยเรียนกับท่านที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และท่านจัดรายการที่สถานีวิทยุจุฬาฯ มีคนเขียนจดหมายมาหาท่านบอกว่าไปทำเสน่ห์กับพระอาจารย์ที่วัดแห่งหนึ่ง แล้วโดนข่มเหง รศ.สุนีย์ สินธุเดชะ ก็บอกให้แฟนรายการคนนั้นติดต่อมาหลังไมค์ และท่านก็พาตำรวจบุกไปจับพระที่วัดนั้นเลย นี่คือแรงบันดาลใจที่ทำให้รู้สึกว่า ถ้าจะทำอะไร ก็ต้องทำให้สุดอย่างนั้นแหละครับ” มาพิสูจน์ความ “สุด” กับทุกเนื้อหาที่อัดแน่นและน่าสนุก ของ ผศ.โสภณ ในรายการเพลินภาษา นานาสาระ ทุกวันศุกร์ เวลา 08.01 – 08.30 น. ทาง FM 89.5 MHz …..
เรื่อง – ภาพ ชวลิต อรุณทัต
เผยแพร่ข่าว โดย : งานพัฒนาเว็บไซต์และเผยแพร่ข้อมูล สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มทร.ธัญบุรี