วันนี้แฟนๆรายการ “มรดกไทย” ที่ดำเนินรายการโดย “อาจารย์สมพงษ์ บุญหนุน” อาจารย์ที่รักและหลงไหลในความเป็นไทย คงจะยินดีไม่น้อย ที่ผมได้มาพูดคุยถึงความเป็นมาของรายการ “มรดกไทย” ซึ่งผลิตมาตั้งแต่ปี 2558 อาจารย์เล่าให้ผมฟังว่า…
“ผมได้เรียนวิชาวรรณคดีมรดก และผมเป็นครูภาษาไทย ตอนที่สถานีวิทยุกระจายเสียง มทร.ธัญบุรี ถามว่าผมอยากทำรายการยังไง ก็เลยคิดว่ารายการควรจะมีความเป็นไทยอยู่ 3 ส่วน ส่วนแรกผมชอบฟังเพลง เลยนึกถึงเพลงไทย ส่วนที่สองผมนึกถึงภูมิปัญญาไทย – วิถีไทย และส่วนที่สามผมนึกถึงภาษา สิ่งที่คิดถึงทั้งสามส่วนคือมรดกไทยทั้งสิ้นครับ ในช่วงของมรดกเพลงไทยผมก็เอาเพลงเก่า ๆ ตั้งแต่ยุค 80 ปลาย ๆ มาจนถึงยุค 90 มาเปิดมาคุยถึงประวัติความเป็นมา ใครร้อง ใครแต่ง ใครเขียน ส่วนมรดกภูมิปัญญาไทย ผมมองว่าสิ่งนี้น่าสนใจ จะพูดถึงภูมิปัญญาไทยที่อยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นของกิน ของใช้ หรือนวัตกรรมต่าง ๆ มรดกวิถีไทยคือการที่เราไปทำบุญไหว้พระ ไปเที่ยว ความเชื่อต่าง ๆ และบางครั้งอาจจะมีเรื่องมรดกทางภาษา เช่น สำนวนสุภาษิต ซึ่งผมคิดว่าเนื้อหาทั้ง 3 ส่วน ควรอยู่ในรายการไม่เกิน ส่วนละ 7 นาที” อาจารย์สมพงษ์แจกแจงถึงความเป็นมาของเนื้อหารายการในแต่ละส่วนได้ชัดเจนและตรงประเด็นโดยไม่อ้อมค้อม
“รายการผมจะเปิดด้วยเพลงต้นเรื่อง ซึ่งในเพลงจะโยงไปถึงมรดกวิถีไทย หรือมรดกภูมิปัญญาไทยอย่างเช่น ผมนึกถึงเพลง “นักเดินทาง” ของวง “กัมปะนี” ก็จะกล่าวถึงว่าเนื้อเพลงเป็นยังไง มีที่มาที่ไปยังไง จากนั้นก็มาคิดต่อว่าช่วงมรดกวิถีไทยจะเดินทางไปไหน ถ้าไปอยุธยาก็ต้องไปไหว้พระ 9 วัด แล้วโยงมาถึงมรดกภูมิปัญญาไทย ก็จะพูดถึงขนมหรือของกินที่น่าสนใจของจังหวัดอยุธยา เนื้อหาใน 3 ส่วนของรายการก็จะร้อยเรียงไปด้วยกัน เดินทางไปไหน เดินทางไปเจออะไร อย่างนี้เป็นต้นครับ” ทุกวินาทีในรายการ จะเต็มไปด้วยอัตลักษณ์ทางสังคมทีมีวัฒนธรรมเป็นของตัวเองกับความหมายของ “ความเป็นไทย” ที่อาจารย์สมพงษ์รักและภาคภูมิใจเป็นที่สุด!
“ข้อมูลที่ผมหามาจัดรายการก็สามารถเอาไปใช้ต่อยอดในการสอนได้ เพราะผมสอนวิชาภาษาวัฒนธรรมด้วย บางเทปเราเอาเนื้อหารายการให้เด็กไปฟังได้ คนฟังได้ความรู้ ตัวผมเองก็ได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆไปด้วย”
คุณอาจอยากรู้ว่าทำไม “อาจารย์สมพงษ์ถึงหลงรักเพลงไทย” ผมหาคำตอบมาให้แล้วล่ะครับ “สิ่งที่ทำให้ผมรักเพลงไทย มันเกิดจากที่คนไทยเจ้าบทเจ้ากลอน แล้วจากบทกลอนเราก็นำมาพัฒนาใส่ทำนอง ใส่โน๊ตเพลง ในเพลงไทยเราได้เห็นสัมผัสนอก สัมผัสใน มีลักษณะของการอุปมาอุปไมย ผมว่าเพลงมันคือ Story ตัวเพลงมันเล่าเรื่องด้วยตัวเอง เหมือนดูภาพยนตร์ที่จบใน 3 นาที อีกประเด็นคือภาษาไทยของเรางดงามมาก และเพลงคือการบันทึกเรื่องราวของประวัติศาสตร์ เพลงที่ผมประทับใจเป็นพิเศษคือเพลง “นักเดินทาง” ของวง “กัมปะนี” เขียนเนื้อโดย “สุรักษ์ สุขเสวี” ในเพลงพูดถึงว่าชีวิตคือการเดินทาง แต่สุดท้ายทุกการเดินทางก็ไม่เหลืออะไร ทุกอย่างมันเป็นเพียงแค่ความทรงจำ อีกเพลงที่ผมชอบคือเพลง “ตัวจริงของเธอ” ของ “จั๊ก ชวิน” เนื้อเพลงจะกล่าวถึงผู้ชายคนหนึ่งที่กำลังน้อยใจแฟนตัวเองเพราะเค้ายังคิดถึงแฟนเก่า ผู้ชายคนนี้เลยบอกว่าทำไมเธอไม่อยู่กับปัจจุบัน มองคนตรงหน้านี้ว่าเป็นตัวจริงของเธอ…เสน่ห์ของภาษาไทยคือเป็นภาษาที่เหมือนเสียงดนตรีมีเสียงสูงเสียงต่ำ และภาษาไทยมีความร่ำรวย คำในความหมายเดียวกัน มีหลายคำพูด อย่างคำว่าพระอาทิตย์ ก็มีคำว่า ตะวัน สุริยน สุริยา ที่ให้ความหมายเดียวกัน” นี่คือสิ่งที่ทำให้ภาษาไทยยังเต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์สำหรับเราเสมอมา
“ผมเอาแรงบันดาลใจมาจากสิ่งรอบตัวแล้วนำมาปรับใช้ให้เข้ากับคอนเซ็ปต์รายการ เนื่องจากคนไทยเป็นคนพิถีพิถันและช่างคิด ทุกอย่างจึงออกมาในรูปแบบของประเพณี วัฒนธรรมที่ค่อนข้าง Unique และมีรายละเอียด สำหรับเด็กรุ่นใหม่ผมอยากจะบอกว่าเรามีสิทธิ์ที่จะชื่นชมวัฒนธรรมของชนชาติอื่น แต่เราต้องไม่ลืมว่าเราเป็นใครมาจากไหน เรามีดีอะไร และจะรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ได้อย่างไร สุดท้ายนี้ฝากติดตามรายการมรดกไทย วันพฤหัส 08.00 น. – 08.30 น. ทางคลื่น FM 89.5 MHz ด้วยนะครับ”
เห็นจะจริงอย่างที่อ.สมพงษ์กล่าวไว้ว่า ถ้าเรายังไม่รู้จักรากเหง้าของตนเองดีพอ แล้วเราจะไปรู้จักความงดงามของชีวิตในแง่มุมอื่น ๆ ได้อย่างไร
เรื่อง – ภาพ ชวลิต อรุณทัต